ระหว่างวันที่ 7-13 สิงหาคม 2560
มีการจัดงาน “Bangkok Rum Cocktail Week” ระหว่างวันที่ 7-13 สิงหาคม 2560 โดยบริษัท Kin Plus เป็นหัวเรือใหญ่ ขับเคลื่อนค็อกเทลที่มีรัมเป็นส่วนผสมหลักในรูปแบบหลัก ๆ คือ เชิญบาร์เทนเดอร์หรือมิกโซโลจีสต์ชื่อดังจากต่างประเทศมาอบรมหรือมาสเตอร์ คลาส (Masterclass) ให้ความรู้ตลอดจนแทกติกและสิ่งใหม่ ๆ กับบาร์เทนเดอร์ไทย ก่อนจะให้บาร์เทนเดอร์เหล่านี้ไปสร้างสรรค็อกเทลให้กับคนรักค็อกเทลตามบาร์และค็อกเทลบาร์ต่าง ๆ ได้รับความสนใจจากผู้ที่อยู่ในแวดวงค็อกเทลมากมายพอสมควรสำหรับงานแรกอย่างนี้
สำหรับรัมที่ร่วมเป็นผู้สนับสนุนรายการนี้ประกอบด้วย รอน ซากาปา (Ron Zacapa),บาคาร์ดี (Bacardi),ดีโพลมาตีโก (Diplomatico),แพลนเตชั่น(Plantation),อาบานา คลับ (Havana Club) พร้อมด้วย 2 รัมที่ผลิตในเมืองไทยคือแม่โขง (Mekhong) และฉลอง เลย์ (Chanlong Bay) จากภูเก็ต
ที่ผ่านมา “รัม” (Rum) สำหรับคนไทยถ้าไม่ใช่นักดื่มจริง ๆ ค่อนข้างรู้จักกันไม่มากนัก ทั้งที่จริงรัมอยู่ในแวดวงเครื่องดื่มบ้านเรามานานแล้ว โดยเฉพาะบาร์เทนเดอร์จะขาดไม่ได้สำหรับการทำค็อกเทลหลาย ๆ อย่าง ขณะที่แสงโสมก็เป็นรัมสัญชาติไทยที่กำเนิดมาตั้งแต่ปี 2520
“รัม” เป็นเหล้ากลั่นตระกูลหนึ่งที่มีชื่อเสียง ไม่แพ้เหล้ากลั่นชั้นยอดเยี่ยมในโลกนี้ ที่สำคัญรัมได้ชื่อว่าเป็นเหล้าที่ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศในแถบทะเลแคริบเบี้ยน ดีขึ้นอย่างทันตาเห็น รัมถือเป็นความภาคภูมิใจกับภูมิปัญญาของชาวเกาะในทะเลแคริบเบี้ยนอย่างยิ่ง ไม่แพ้วิสกี้ของสก็อตแลนด์ เตกีลาของเม็กซิโก และว้อดก้าของรัสเซีย เป็นต้น
รัมเป็นสุรากลั่นที่ผลิตจากน้ำอ้อย น้ำเชื่อมของน้ำผลไม้และกากน้ำตาล หรือโมลาส (Molasses) แหล่งกำเนิดและมีชื่อเสียงอยู่ทางหมู่เกาะอินดีสตะวันตก ประเทศในแถบทะเลแคริบเบี้ยน อาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งล้วนเป็นแหล่งปลูกอ้อย ผลิตน้ำตาลที่สำคัญของโลก เช่น เปอร์โตริโก,คิวบา,บาร์บาโดส,ทรินิแดด,ไฮติ,จาไมกา และ เฟรนช์กีอานา เป็นต้น แต่ละปีรัมหลายแสนลิตร จะถูกขนย้ายไปจากย่านนี้ ส่งไปให้นักดื่มทั่วโลก
ในเมืองไทยซึ่งมีการปลูกอ้อย ผลิตน้ำตาล มีกากน้ำตาลหรือโมลาส(Molasses) มากมาย สมัยก่อนจึงมีผู้ผลิตเหล้าด้วยกรรมวิธีแบบเดียวกับรัมหลายยี่ห้อ เช่น ไวท์โรส และแสงโสม ต่อมาก็มี สิมิลัน และแม่โขงก็เป็นไทยรัม (Thai Rum) จากเดิมที่เคยเป็น Thai Whiskey
แม่โขงนั้นมีการคิดค้นค็อกเทลประจำชาติภายใต้ชื่อ “ไทยสบาย” (Thai Sabai) เมื่อประมาณ 14-15 ปีที่แล้ว ผมเป็น 1 ในกรรมการชุดแรกที่คัดเลือกค็อกเทลนี้ ตอนนั้นลูกชายคุณเจริญกลับมาจากต่างประเทศใหม่ ๆ และได้รับมอบหมายให้ดูแลแม่โขง ซึ่งยังเป็น Thai Whiskey รสชาติของค็อกเทลตอนนั้นไม่ค่อยลงตัวนัก ต่อมามีการปรับเปลี่ยนสูตรค็อกเทลมาเรื่อย ๆ เพื่อหารสชาติที่เหมาะสม กระทั่งแม่โขงเป็น Thai Rum รสชาติของค็อกเทลจึงลงตัว และมีสูตรที่หลากหลายจากฝีมือและการสร้างสรรค์ของบาร์เทนเดอร์
กำเนิดของรัม ได้มีผู้บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์หลายตำนาน แต่ที่ได้รับการเชื่อถือก็คือ รัมมาจากพวกอินเดียนแดง ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองในหมู่เกาะอินดีสตะวันตก เริ่มจากพวกพ่อมดหมอผีทำน้ำเชื่อมผลไม้ ให้เป็นเหล้าซึ่งหมักกลั่นจากน้ำศักดิ์สิทธิ์บนภูเขาสูง เพื่อไว้ดื่มในวันสำคัญต่าง ๆ
มีการค้นพบบันทึกของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) เมื่อครั้งที่ออกแล่นเรือแสวงหาดินแดนใหม่ครั้งที่ 2 เขาและเพื่อน ๆ ได้มีโอกาสลิ้มลองเหล้ารัมของพวกอินเดียนแดงที่เมืองอโซเรส (Azores) บนเกาะบาร์บาโดส (Barbados) ในปี ค.ศ.1600 นั่นน่าจะเป็นครั้งแรกที่ชาวตะวันตกได้รู้จักรสชาติของเหล้ารัม ต่อมาจึงมีการค้นพบว่า Rum อาจจะเรียกต่าง ๆ กันตามภาษาพื้นเมืองหรือภาษาถิ่นของดินแดนต่าง ๆ
หลังจากนั้นเหล้ารัมก็ระบาดไปในอเมริกา และยุโรป แม้แต่ยอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาก็ยังชอบดื่มเหล้ารัม โดยเฉพาะในช่วงกินอาหารกลางวัน นอกจากนั้นยังเก็บเหล้ารัมไว้ที่บ้านในเวอร์จิเนียอีกนับ 100 แกลลอน ใครไปเยือนบ้านพักหลังดังกล่าว เจ้าของบ้านมักจะนำรัมมาเลี้ยงแขกเสมอจนเป็นที่รู้กันดี
ในทวีปยุโรป อังกฤษที่ล่าอาณานิคมในย่านเวสต์ อินดีส ออกกฎบังคับให้ประเทศที่เป็นอาณานิคม ต้องส่งเหล้ารัมให้กับอังกฤษ ต่อมาฝรั่งเศส สเปน ฮอลแลนด์ก็เลียนแบบบ้าง สุดท้ายรัมไม่พอดื่ม จำเป็นต้องควักกระเป๋าสั่งซื้อเอง คงเป็นผลกรรมอย่างหนึ่ง รุกรานเขาไว้เยอะวันหนึ่งก็ต้องชดใช้
การผลิตเหล้ารัมเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมอย่างจริงจังในช่วงศตวรรษที่ 17 นี่เอง เนื่องจากตอนนั้นหมู่เกาะเวสต์ อินดีสซึ่งโรงผลิตน้ำตาลกำลังเฟื่องฟู มาวันหนึ่งอ้อยได้ถูกหัวผักกาดหวานโจมตี มีการผลิตน้ำตาลจากหัวผักกาดหวานกันมากขึ้น ทั้งในยุโรปและอเมริกา โรงงานน้ำตาลจึงหาวิธีรักษาตัวให้รอด ด้วยการผลิตเหล้ารัมออกมาขาย เพื่อหาเงินช่วยอุตสาหกรรมน้ำตาลอีกทางหนึ่ง ถ้าใครเคยไปดูโรงงานทำน้ำตาลในประเทศดังกล่าวข้างต้น ส่วนใหญ่ในบริเวณเดียวกับโรงงานผลิตน้ำตาล จะมีถังหมักเหล้า โรงกลั่น และโรงเก็บเหล้าอยู่ด้วย จะว่าไปแล้วรัมคือเหล้ากู้ชาติก็คงไม่ผิดนัก
การทำเหล้ารัมในอดีตถือเป็นเคล็ดวิชาอย่างหนึ่ง คนเฒ่าคนแก่ที่เป็นเจ้าของสูตรต้องสั่งสมประสบการณ์มาหลายสิบปี การผลิตก็ใช้ฝีมือล้วน ๆ ไม่เหมือนสมัยนี้มีเทคโนโลยีเข้าไปช่วยมากมาย จนแทบไม่ต้องใช้ฝีมือ เพียงแต่นั่งกดปุ่มเท่านั้น สมัยนั้นประสบการณ์ของผู้ผลิตแต่ละรายคือเครื่องหมายรับประกันคุณภาพได้อย่างหนึ่ง และประสบการณ์ดังกล่าวจะไม่มีการเปิดเผยต่อบุคคลอื่นนอกเหนือจากลูกหลานในวงศ์ตระกูล
เรื่องราวของ “รัม” ยังมีอีกมากมาย ผู้ที่อยู่ในแวดวงนี้ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ และทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลทางวิชาการเพื่อความรู้ และการศึกษาของผู้ที่ศึกษาทางด้านนี้ มิได้มีเจตนาเชิญชวนในการดื่ม แต่ถ้าจะดื่มขอให้เป็นการดื่มด้วยความรับผิดชอบทั้งตัวเองและผู้อื่น.
**********
กรรมวิธีการผลิตรัมมี 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ
1.วิธีของจาไมกา (Jamaica) ซึ่งจะใช้น้ำเชื่อมหรือกากน้ำตาลของอ้อยเป็นวัตถุดิบหลัก ผสมฟองน้ำตาลที่ได้จากทำน้ำตาล ผสมผสานกับตามกรรมวิธีของเขา จากนั้นนำไปหมักประมาณ 10-12 วัน แล้วนำไปกลั่นในหม้อกลั่นหลาย ๆ ครั้งที่เรียกว่า Pot Stills
2.วิธีของเดเมอรารา (Demerara) จะใช้ Demerara หรือ Raw Sugar ละลายน้ำ และกรดเกลือ หมักส่าด้วยแอมโมเนียม ซัลเฟตในเวลา 35-45 ชั่วโมง จึงนำไปกลั่นซึ่งมีทั้งแบบหลาย ๆ ครั้ง และการกลั่นแบบต่อเนื่องจนได้ดีกรีสูง ๆ (Contineous Pantent Stills) จริง ๆ แล้ว Demerara เป็นน้ำตาลที่ผ่านการ Refine มาแล้วบางขั้นตอน แต่ยังไม่สมบูรณ์ มีปริมาณ Molasses น้อย เมืองไทยเรียก “น้ำตาลทรายสีรำ” คล้ายสีทองจาง ๆ เพราะผ่านการฟอกสีมาบางขั้นตอน นิยมใช้ทำคุ้กกี้ ขนมหวานต่าง ๆ เสิร์ฟกับกาแฟ มีทั้งลักษณะที่เป็นผลึกแบบน้ำตาลทรายและชนิดก้อน
ที่เหมือนกันก็คือเมื่อกลั่นเสร็จแล้วต้องมาลดดีกรีให้เหลือประมาณ 40 – 60 ดีกรี แล้วนำไปบ่มในถังไม้โอค นาน ๆ เข้ารัมจะมีสีเหลืองอ่อน ๆ หรือมีสีเหลืองแก่ขึ้นอยู่กับภาชนะที่บ่ม แต่ไม่มีข้อบังคับหรือหลักแน่นอนตายตัวว่าต้องบ่มหรือไม่
รัมแบ่งตามความนิยมเป็น 3 ชนิดคือ
1. รัมขาว (White Rum) บางแห่งเรียกว่าซิลเวอร์ รัม (Silver Rum)เป็นรัมที่สีใส บางชนิดไม่ต้องเก็บบ่ม แต่บางชนิดต้องเก็บบ่มในถังไม้เพื่อให้กลิ่นรสดีขึ้น เหมาะสำหรับผสมค็อกเทลที่ไม่ต้องการให้สีเปลี่ยน
2. รัมทอง (Gold Rum) เป็นรัมสีเหลืองใส ได้จากการเก็บบ่มในถังไม้
เพื่อให้เกิดสี หรือผสมสี กลิ่น รสชาติ ด้วยคาราเมล (Caramel) ที่ได้จากการเคี่ยวน้ำตาล เป็นสีเหลืองทอง เพื่อให้ได้เหล้ารัม ที่มีกลิ่น สี รสชาติมากขึ้น
3. รัมดำ (Dark Rum) บางเจ้าอาจจะใช้ แบล็ค รัม (Black Rum) เป็นรัมที่สีเกือบดำหรือดำ ได้จากการเก็บบ่มไว้ในถังไม้เพื่อให้เกิดสี และผสมกับคาราเมลที่เคี่ยวจนเป็นสีดำเกือบไหม้ จะได้กลิ่นและรสชาติมากขึ้น.