“Bollinger & James Bond” ตำนานแชมเปญและสายลับ

ในบรรดาหนังทั้งหมด เจมส์ บอนด์ (James Bond) อยู่ในทำเนียบหนังชุดที่มีประวัติความเป็นมายาวนานที่สุด นับถึงวันนี้ก็ปาเข้าไป 50 ปีแล้ว และภาคล่าสุดสด ๆ ร้อน ๆ กำลังฉายอยู่ในช่วงนี้มีชื่อว่า “พลิกรหัสพิฆาตพยัคฆ์ร้าย” (Skyfall) มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง และพร้อมทั้งเสียงชมและเสียงบ่น
เจมส์ บอนด์,รหัสลับ 007(James Bond 007) เป็นตัวละครสมมติสร้างโดย เอียน เฟลมมิง เมื่อ 1953 ปรากฎอยู่ในนวนิยาย 12 ตอนและรวมเรื่องสั้นอีก 2 เล่ม หลังจากเฟลมมิงเสียชีวิตใน 1964 ก็มีนักประพันธ์อีกหลายคนได้รับสิทธ์ในการประพันธ์ เจมส์ บอนด์ต่อ ตัวละครเจมส์ บอนด์ถูกดัดแปลงออกมาเป็นสื่อต่างๆ เช่น ละครโทรทัศน์, ละครวิทยุ, การ์ตูน, วิดีโอเกม แต่ที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือภาพยนตร์ชุดเจมส์ บอนด์ กลายเป็นภาพยนตร์ชุดจากทั่วโลกที่ทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับที่ 2
James Bond 007 ผลิตโดย อีโอเอ็น โปรดักชันส์ เริ่มต้นจากภาพยนตร์เรื่อง พยัคฆ์ร้าย 007 (Dr.No) ใน 1962 ฌอน คอนเนอรี รับบทเป็นเจมส์ บอนด์ กระทั่ง Skyfall ที่กำลังฉายในบ้านเราเป็นภาคที่ 23 (ไม่รวมภาพยนตร์ที่ไม่ใช่ของอีโอเอ็น อีก 3 ตอน) แดเนียล เคร็ก รับบทเจมส์ บอนด์ เป็นครั้งที่ 3 และเป็นคนที่ 6
ตัวเลข 007 หมายถึงรหัสลับประจำตัวที่ใช้เรียกแทนตัวเขาในฐานะของสายลับคนหนึ่ง โดยเลข 00 ถือเป็นสัญลักษณ์ที่แจ้งให้ทราบว่า ตัวเขาเป็นสายลับที่ได้รับอนุญาตให้สังหารชีวิตผู้อื่นได้โดยไม่ผิดกฎหมาย มีนักวิเคราะห์บางคนแสดงทัศนะว่า เฟลมมิงน่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากสายลับชาวอังกฤษคนหนึ่งในช่วงศตวรรษที่ 16 ที่ได้ส่งสารลับมาถึงสมเด็จพระบรมราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 ด้วยรหัส 00 ซึ่งมีความหมายว่า “สำหรับพระเนตรของพระองค์เท่านั้น” (For Your Eyes Only)
ภาพยนตร์ชุดเจมส์ บอนด์ เคยเข้ามาถ่ายทำในเมืองไทย 2 ครั้ง ๆ แรกคือตอน เพชฌฆาตปืนทอง (The Man with the Golden Gun) ถ่ายทำที่บริเวณคลองรังสิต,เกาะพีพีเลและเกาะตะปูในจังหวัดพังงา ซึ่งหลังจากที่ภาพยนตร์ชุดนี้ออกฉาย ได้ทำให้สถานที่แห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดัง จนทั้ง 2 เกาะถูกเรียกว่า “เกาะเจมส์ บอนด์” (James Bond Island) ครั้งที่ 2 คือตอน พยัคฆ์ร้ายไม่มีวันตาย (Tomorrow Never Dies) ถ่ายทำที่ตึกสินสาธร ย่านธนบุรี
“สายลับอังกฤษ หล่อ เก่ง ผู้ดี สาวติดเยอะ มีของเล่นไฮเทคไว้ปราบผู้ร้าย” คือภาพลักษณ์ของ James Bond พร้อมกับพล็อตที่แทบเหมือนกันทุกตอนคือ “ผู้ร้ายวางแผนครองโลก Bond รับภารกิจไปปราบ เจอสาว Bond ได้กัน ปราบผู้ร้ายสำเร็จ กลับมาเตรียมรับภารกิจต่อไป” ต่างกันก็แค่รายละเอียดปลีกย่อยบางอย่าง ที่สำคัญสามารถดึงเงินจากกระเป๋าผู้คนได้อย่างมากมาย
หนึ่งในจำนวนเอกลักษณ์ของ James Bond คือเครื่องดื่มประจำตัวของเขาอย่างแรก มาร์ตินี พร้อมคำสั่ง “shaken, not stirred” อีกอย่างหนึ่งแชมเปญยี่ห้อโบลลิงเฌ (Bollinger) ซึ่งกลายเป็นตำนานคู่กันมาตั้งแต่นวนิยายตอน Diamonds are Forever ปี 1956 ก่อนจะมาเป็นหนัง James Bond ตอนที่ 7 ในปี 1971 นำแสดงโดยฌอน คอนเนอรี หลังจากนั้นสายลับรหัส 007 ต้องจิบ Bollinger ทุกตอน
”Champagne is a wine that is enjoyed by both women and men … History shows us that notable figures such as Napoleon, Winston Churchill and Oscar Wilde all enjoyed champagne. And let’s not forget the most masculine figure of them all, James Bond” เจ้าของ Bollinger กล่าวว่าไปเช่นนั้น
ปี 1973 James Bond ตอน Live and Let Die นำแสดงโดย Roger Moore ซึ่งเป็นพระเอกที่รับบท James Bond มากที่สุด (7 ตอน) สั่งแชมเปญ Bollinger 1 ขวดหลังจากเข้าพักในโรงแรม / ปี 1985 ตอน A View to a Kill พระเอก Roger Moore ได้รับการเสิร์ฟ Bollinger รุ่นสุดยอดคือวินเทจ 1975 ในร้านอาหารบนหอไอเฟล / ปี 2002 ตอน Die Another Day นำแสดงโดย Pierce Brosnan สั่ง Bollinger 1 ขวดทันทีที่เสร็จสิ้นภารกิจจากเกาหลีเหนือ / ปี 2006 ตอน Casino Royale เจมส์ บอนด์ที่นำแสดงโดย Daniel Craig สั่ง Bollinger และตอน Golden Eye ก็มีขวด Bollinger อยู่รถที่ไล่ล่ากัน เป็นต้น
เมื่อ James Bond “Skyfall” เข้ามาฉายในเมืองไทย โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพฯ สุขุมวิท (Sofitel Bangkok Sukhumvit Hotel) เป็นโรงแรมที่หัวไวและไอเดียกระฉูดที่สุด ด้วยการจัดดินเนอร์มื้อพิเศษ “Bond and Bollinger Champagne Dinner” ที่ห้องอาหาร L’Appart ให้แฟน ๆ เจมส์ บอนด์ และแชมเปญ ได้ลิ้มรส Bollinger รุ่นพิเศษในกล่องที่ต้องป้อนรหัส 007 ซึ่งผลิตในฐานะครบรอบ 50 ปี James Bond ประมาณ 20,000 ขวดเท่านั้น
James Bond เป็นตำนานของหนังชุด ขณะที่ Bollinger ก็เป็นตำนานของแชมเปญ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1829 ในเมือง Ay แคว้นแชมเปญ (Champagne) ประเทศฝรั่งเศส โดย 3 หนุ่ม Hennequin de Villermont, Paul Renaudin และ Jacques Bollinger นับเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแชมเปญ (Champagne House) ไม่กี่รายที่ยังดำเนินกิจการโดยครอบครัวมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากที่ผ่านมาหลายแห่งเปลี่ยนเจ้าของทั้งที่เป็นคนฝรั่งเศสและต่างชาติ
ด้วยคุณภาพที่ดูแลอย่างดีเยี่ยม ทำให้ได้รับการรับรองจากราชสำนักอังกฤษ ให้ใช้เป็นแชมเปญประจำราชสำนักในปี 1884 สมัย Queen Victoria นับแต่นั้นมาคนอังกฤษก็เห่อแชมเปญยี่ห้อนี้ กิจกรรมต่าง ๆ มักจะมี Bollinger เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย รวมทั้งหนัง James Bond ดังกล่าว ขณะที่คนอังกฤษเรียก Bollinger ว่า “Bolly”
I drink it when I’m happy and when I”m sad. Sometimes I drink it when I’m alone. When I have company I consider it obligatory. I trifle with it if I’m not hungry and I drink it when I am. Otherwise I never touch it, unless I’m thirsty.” Madame Jacques Bollinger ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ London Daily Mail ฉบับวันที่ 17 ตุลาคม 1981
ปัจจุบัน Bollinger มีพื้นที่ปลูกองุ่น 150 เฮกตาร์ 85 % อยู่ในพื้นที่กรองด์ ครูส์ (Grand Crus) และเปรอะมิเยร์ ครูส์ (Premier Crus) ผลิตแชมเปญหลากหลายรุ่น เช่น วินเทจ แชมเปญ (Vintage Champagne) รุ่น Vieille Vignes Françaises, Grand Année และ R.D. ส่วนนอน วินเทจ (Non Vintage) เช่น Special Cuvée ข้อมูลของแต่ละรุ่นมีดังนี้
Special Cuvée (non-vintage = NV): เป็นรุ่นสูตรพิเศษของ Bollinger ทำจากองุ่น ปิโนต์ นัวร์ (Pinot Noir) 60%, ชาร์โดห์เนย์ (Chardonnay) 25% และปิโนต์ มูนิเยร์ (Pinot Meunier) 15% เป็นองุ่นจากปีดี ๆ ประมาณ 90 % ที่เหลือ 10 % เป็นน้ำไวน์ปีดี ๆ ที่บ่มเอาไว้ประมาณ 15 ปี Tom Stevenson นักเขียนเรื่องแชมเปญชื่อดังเขียนให้ความเห็นว่า “classic, Pinot-dominated Champagnes of great potential longevity and complexity” which “tends to go toasty.”
Grand Année (vintage): เป็นรุ่นที่เมื่อ Bollinger พิสูจน์แล้วว่าปีนั้นผลผลิตขององุ่นดีเยี่ยมจริง ๆ จึงจะผลิต ดังความหมายของคำว่า Grand Année คือ “great vintage” มีทั้งธรรมดาและโรเซ่ ทำจาก Pinot Noir) 65% และ Chardonnay 35% หมักพร้อมกากยีสต์ถึง 5 ปี ก่อนจะบ่มในขวดที่ปิดฝาด้วยจุกคอร์ก ไม่ใช่ฝาจีบแบบที่เจ้าอื่นใช้กัน
R.D. (vintage): เป็นรุ่นที่ต่อยอดจากรุ่น Grand Année ด้วยการขยายเวลาในการหมักพร้อมกากยีสต์ออกไปเป็น 8 ปี และบ่มในขวดที่ปิดฝาด้วยจุกคอร์กเช่นเดียวกัน เป็นรุ่นที่ยิ่งใหญ่ของ Bollinger และควรดื่มสักครั้งในชีวิต
Vieille Vignes Françaises (vintage): เป็นรุ่น prestige cuvee ของ Bollinger โดยรุ่น Blanc de Noirs ผลิตไม่มากประมาณ 3,000 – 5,000 ขวดนั้น วินเทจแรกคือ 1969 บรรจุขวดพร้อมหมายเลขข้างขวด
Bollinger อยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท Société Jacques Bollinger ซึ่งครอบครองการผลิตไวน์ในเขตอื่นด้วย ในฝรั่งเศส เช่น แชมเปญ Ayala, Maison Chanson ในเบอร์กันดี, Langlois-Chateau ในลัวร์ แวลลีย์ และ Delamain ในคอนยัค นอกจากนั้นยังขยายอาณาจักรไปในออสเตรเลีย ด้วยการลงทุนทำ Tapanappa Winery ใน Wrattonbully ร่วมกับ Jean-Michel Cazes เจ้าของ Château Lynch-Bages และ Brian Croser แห่ง Petaluma Winery เป็นต้น
สำหรับงาน “Bond and Bollinger Champagne Dinner” ที่ Sofitel Bangkok Sukhumvit Hotel เสิร์ฟค็อกเทล 3 สูตรรวมทั้งมาร์ตินีสูตรที่เจมส์ บอนด์ชื่นชอบ ตามด้วยแชมเปญ Bollinger อีก 3 รุ่นที่จับคู่กับเมนูพิเศษโดยเชฟ Jeremy Tourret และบางคอร์สตั้งชื่อตามชื่อตอนของหนังเจมส์ บอนด์ เช่น
ภาคแรกที่เจมส์ บอนด์ ดื่ม Bollinger

Bollinger Rose

Bollinger Special Cuvee

Bollinger ฉลากเจมส์ บอนด์ 007

Bond & Bollinger

Live & Let Die

Moonraker

Skyfall ภาคล่าสุด

กล่อง Bollinger รุ่นพิเศษ James Bond 007

ค็อกเทลต้อนรับ

ที่ทำการของ Bollinger

ในถ้ำบ่ม Bollinger

โปรโมชั่นสตาร์ตเตอร์เป็น For your Mount Only แปลงมาจากตอน For your Eyes Only (Roger Moore,2524) คอร์สแรก Moonraker (Roger Moore,1979) เป็น Pan-fried Monkfish จับคู่กับ Bollinger La Grande Année 2002 ตามด้วย Casino Royale (Daniel Craig,2006) โฮมเมด ฟอ กราส์ เทอร์รีน กับแชมเปญเยลลี จับคู่กับ Bollinger Special Cuvee / เมนคอร์สทำจากอกไก่ Yellow chicken breast ชื่อ Live & Let Die (Roger Moore,1973) จับคู่กับ Bollinger La Grande Année 2002 ปิดท้ายด้วยของหวานชื่อ Skyfall (Daniel Craig,2012) Bollinger Rose
อย่างไรก็ตามไฮไลท์ของงานอยู่ที่ Bollinger La Grande Année 2002 ซึ่งอยู่ในกล่องพิเศษรหัส 007 ของเจมส์ บอนด์ ผสมผสานจาก Pinot Noir 60% และ Chardonnay 40% จากไร่ในเขต Crus 23 เขต ที่เหลืออีก 71% มาจากพื้นที่ Grand Crus หมักในถังสแตนเลสล้วน ๆ ก่อนจะถ่ายไปบ่มในถังโอค…สีทองสดใสเหลืองอร่าม หอมกลิ่นยีสต์ ขนมปังปิ้ง ดอกไม้ มิเนอรัล สไปซี เฮิร์บสด ๆ พีช เลมอน แอซสิดยอดเยี่ยมดื่มแล้วสดชื่นเหมือนยืนอยู่กลางเรือสำราญของเจมส์ บอนด์ พรายฟองละเอียดยิบ พลิ้วราวใยไหม เป็นหนึ่งในแชมเปญที่ต้องดื่มก่อนชีวิต…เพื่อ Tomorrow Never Dies…

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...