“Curaçao” : สีสันหอมกรุ่นจากชาวเกาะ

สีสันและค็อกเทลที่แสดงความเป็นคูราเซา

Blue Curaçao Margarita

Blue Curaçao ของตระกูล Senior

Blue Curaçao ที่ทำในเยอรมัน

Blue Curaçao

Blue Kamikaze

Curacao รสชาติต่าง ๆ

factory_visit_welcome__1365800387

hqdefault

Lahara peels

Larahas Orange

เกาะ Curaçao

โฉมใหม่ของขวด Blue Curacao

มุมหนึ่งใน Landhuis Chobolobo

โรงกลั่น Curaçao“คูราโซ” หรือ “คูราเซา” (Curaçao) เป็นเหล้าหวานชนิดหนึ่งที่กลั่นและตกแต่งกลิ่นรสจากเปลือกส้ม ลาราอาส (Larahas) ตากแห้ง ส้มชนิดนี้ปลูกได้ดีเยี่ยมบนเกาะคูราเซา (Curaçao) อันเป็นที่มาของชื่อเหล้ากลั่นชนิดนี้ และคนบนเกาะจะออกเสียงก้ำกึ่งระหว่าง คูราโซกับคูราเซา และผู้เขียนก็ชอบเรียกว่า “คูราเซา” ตามกำเนิดที่มาของเหล้าชนิดนี้มากกว่า
Curaçao เป็นเกาะอยู่ในทะเลแคริบเบียน ออกเสียงตามภาษาดัตช์ว่า “กือราเซา” เพราะอยู่ในสังกัดเนเธอร์แลนด์ แอนทิลเลส (Netherlands Antilles) เดิมคือ เนเธอร์แลนด์เวสต์อินดีส (Netherlands West Indies) หรือ ดัตช์แอนทิลลิส/เวสต์อินดีส (Dutch Antilles/West Indies) เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะเลสเซอร์ แอนทิลลิส (Lesser Antilles) และประกอบด้วยเกาะในทะเลแคริบเบียน 2 กลุ่ม ๆ แรกเรียกว่า หมู่เกาะลีเวิร์ด (Leeward Islands) ตั้งอยู่นอกชายฝั่งประเทศเวเนซุเอลา มีคูราเซาและโบแนร์เป็นหลัก กลุ่มที่สองเรียกว่าหมู่เกาะวินด์เวิร์ด (Windward Islands) อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่เกาะเวอร์จิน หมู่เกาะเหล่านี้มีฐานะเป็นดินแดนปกครองตนเองอยู่ภายใต้ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
ในบ้านเราคนไทยรู้จักเกาะ Curaçao เพราะเขาทราย แกแล็กซี ไปป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 4 ชนะน็อกยก 5 อิสราเอล คอนเตรรัส นักมวยชาวเวเนซุเอลา ที่เกาะคูราเซา เนเธอร์แลนด์ แอนทิลเลส เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 ปัจจุบันเกาะนี้กลายเป็น 1 ใน 6 ของเกาะในแคริบเบียนที่ต้องไปเยือนสักครั้งในชีวิต โดยส่วนใหญ่แวะเที่ยวเวเนซูเอลาก่อนข้ามไป Curaçao
ส้ม Larahas มีชื่อทางพฤษกศาสตร์ว่า “Citrus Aurantium Currassuviensis” หมายถึง “ส้มสีทองแห่งคูราเซา” (Golden Orange of Curaçao) มีต้นกำเนิดมาจากเมืองบาเลนเซีย (Valencia) ประเทศสเปน ถูกนำเข้าไปในช่วงที่สเปนไปครอบครองเกาะแห่งนี้ ว่ากันว่าส้มชนิดนี้ถ้าปลูกในบาเลนเซียรสชาติจะหวานหอม แต่เมื่อนำเข้ามาปลูกบนเกาะ Curaçao สภาพของดินฟ้าอากาศทำให้รสชาติไม่หวานมาก แต่มีความขมที่แฝงด้วยความหอมอย่างฉกาจฉกรรจ์ กลายเป็นประโยชน์มหาศาลสำหรับการทำลิคเคอร์ (Liqueur)
การนำส้ม Larahas มาผสมใน Curaçao เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ในศตวรรษที่ 19 ณ บ้าน Landhuis Chobolobo ของ ครอบครัว Senior ซึ่งพวกเขาคิดทำเหล้าด้วยการเตรียมส้ม Larahas ไว้เป็นหนึ่งในส่วนผสม ขณะที่เตรียมอย่างอื่น ผลส้มเกิดแห้งและมีน้ำมันหวานออกมา หลังจากแช่ในหม้อกลั่นพร้อมกับแอลกอฮอล์และน้ำหลายวัน จึงนำเปลือกส้มออกแล้วใส่อย่างอื่นที่ให้ความเผ็ดลงไป ปรากฏว่าได้เหล้าที่รสชาติหอม หวาน กลมกล่อม
Landhuis Chobolobo ซึ่งเป็นตำนานหน้าหนึ่งของ Curaçao นั้นก่อสร้างในช่วงต้นศตวรรษ 1800 บนพื้นที่ 2 ½ เอเคอร์ (1 เอเคอร์ = 2.6 ไร่) ต้นศตวรรษที่ 1900 ได้ตกอยู่ในความครอบรองของตระกูล Jesurun ต่อมาในปี 1947 บริษัท N.V. Senior & Co. ของตระกูล Senior ก่อนจะกลายเป็นตำนานของ Curaçao Liqueur ที่สืบทอดมนต์ขลังและความยิ่งใหญ่มากระทั่งปัจจุบัน
ปัจจุบัน Curaçao มีผู้ผลิตหลายสิบบริษัท ส่วนใหญ่แอลกอฮอล์ประมาณ 30 % มีเกินกว่านั้นบ้างเล็กน้อย และถูกตกแต่งให้มีสีสันต่าง ๆ เช่น ขาว ฟ้า เขียว ส้ม และสีสันเหล่านี้กลายเป็นเสน่ห์สำคัญของการนำไปผสมเป็นเครื่องดื่มประเภทค็อกเทล (Cocktail)
ไวท์ คูราเซา (White Curaçao)
“White Curaçao” เป็น Classic Curaçao สีขาวใสราวตาตั๊กแตน เหมือนเหล้าขาวกลั่นทั่วไป เช่นเหล้าขาวของเรา วอดก้า ยิน และรัม เป็นต้น นิยมดื่มธรรมดามากกว่าจะนำมาผสมเป็นค็อกเทล ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีสีสัน ขณะเดียวกันเหล้าสีขาวอย่างวอดก้าเมื่อนำมาเป็นส่วนผสมค็อกเทลจะได้รสชาติ ความหอมมากกว่า Curaçao อย่างไรก็ตามมีค็อกเทลสีชมพูเรื่อ ๆ คล้ายแก้มสาววัยกระเตาะ ที่ชื่อ “ร็อบ เลิฟ” (Rob Love)
บลู คูราเซา (Blue Curaçao)
“Blue Curaçao” เป็น Curaçao ยอดนิยม อันดับ 1 บางคนบอกว่าเป็น “King of Curaçao” ใช้เป็นส่วนผสมของค็อกเทลกว่า 300 ชนิด สาเหตุที่ Blue Curaçao ได้รับความนิยมมากที่สุด อาจจะเป็นเพราะว่าเมื่อนำมาผสมค็อกเทลแล้ว สีออกฟ้า ๆ สวยงาม สบายตา น่าดื่ม ค็อกเทลชื่อดัง ๆ เช่น บลู คอสโมโปลิแทน (Blue Cosmopolitan) นอกนั้นยังถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหาร และของหวานหลาย ๆ อย่าง
บลู กามิกาเซ (Blue Kamikaze) ค็อกเทลยอดนิยมอีกแก้วหนึ่งมีส่วนผสมไม่มากแต่สวยและอร่อย มี Blue Curaçao,วอดก้า,น้ำมะนาว และน้ำแข็ง ขณะที่ บลู ฮาวายเอียน (Blue Hawaiian) และยังสามารถนำไปดัดแปลงได้อีกมากมาย
ออเรนจ์ คูราเซา (Orange Curaçao)
“ออเรนจ์ คูราเซา” เป็น Curaçao ยอดนิยมรองจาก Blue Curaçao สามารถนำไปผสมเป็นค็อกเทลสูตรต่าง ๆ ประมาณ 40-50 ชนิด เช่น มาร์ลีน ดีทริช (Marlene Dietrich) เคเบิ้ลคาร์ (Cable Car) และฟูลมูน (Full Moon) ใช้ Orange Curaçao ผสมกับอมาเรตโต (Amaretto) แล้วดื่มแบบออน เดอะ ร็อก เป็นต้น
กรีน คูราเซา (Green Curaçao)
“Green Curaçao” มีส่วนผสมของเลมอน ไวน์ น้ำตาล แม้จะไม่ได้เป็นหนึ่งเหมือน Blue Curaçao แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า Green Curaçao ก็เป็น Curaçao ที่บาร์เทนเดอร์ควรต้องมีติดไว้ในบาร์เช่นกัน โดยเฉพาะแคนาเดียน ซอมบี้ (Canadian Zombie) ค็อกเทลตระกูล “ซอมบี้” (Zombie) ที่รสชาติร้อนแรง และคิง วิลลีย์ (King Willy) เป็นต้น
ดราย ออเรนจ์ คูราเซา (Dry Orange Curaçao)
“Dry Orange Curaçao” คือ Orange Curaçao ที่หมักบ่มไว้นานกว่าOrange Curaçao ธรรมดา และดีกรีเพิ่มอีก 5 % เป็น 35 % เป็นส่วนผสมสำคัญของค็อกเทลชื่อดังอย่าง คารา สปอซา (Cara Sposa) และ ดาวน์ฮิลล์ ค็อกเทล (Downhill Cockhill) ทำให้หลายคนหัวทิ่มบ่อเหมือนชื่อ เป็นต้น
“Curaçao” เกาะเล็ก ๆ มีพื้นที่เพียง 444 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 140,000 คน แต่สามารถโกยเงินเข้าประเทศมหาศาลจากเหล้าหวานหอมที่ชื่อ “Curaçao” เมืองไทยวัตถุดิบเยอะ ฝีมือการทำเหล้าแยะ เพียงแต่วิสัยทัศน์คนของเราสวนทางกัน…!!!

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...