“Mai tai-roa aé….”!!!
เสียงอุทานในบาร์แห่งหนึ่ง สำหรับคนคนอื่นอาจจะเป็นเรื่องปกติ แต่กับ “วิกเตอร์ เจ.เบอร์เจอรอน” (Victor J. Bergeron / December 10,1902 – October 11,1984) เจ้าของบาร์แห่งนั้นที่มีชื่อว่าฮิงกี้ ดริ๊งส์ (Hinky Drink’s) ในโอ๊คแลนด์ (Oakland) ซานฟรานซิสโก (San Fransisco) สหรัฐอเมริกา กลับยินดีอย่างสุดซึ้งเพราะค็อกเทลแก้วนั้นเป็นฝีมือของเขาซึ่งทำให้เพื่อนลิ้มลองรสชาติ
ปี 1934 วิกเตอร์ เจ เบอร์เจอรอน เปิดบาร์ดังกล่าว ขายอาหารสไตล์โปลีนีเซียน (Polynesian Food) หรืออาหารสไตล์แปซิฟิก ริม (Pacific Rim) ซึ่งเป็นอาหารสไตล์ชาวเกาะหรือริมทะเล ปี 1944 เขาได้คิดค็อกเทลแก้วหนึ่งให้กับเพื่อนที่มาจากเกาะตาฮิติ (Tahiti) ดื่ม หลังจากดื่มแล้วเพื่อนคนนั้นจึงร้องอุทานด้วยเสียงดังว่า…“Mai tai-roa aé….” ..มาอิ ตาอิ โรอา เอ้…!!!ดังกล่าว ซึ่งมีความหมายว่า “Out of this world – the best” หรือ…อร่อยหลุดโลก …อร่อยเลิศประเสริฐศรี..ยอดเยี่ยม..!! อะไรประมาณนั้น
โดยสูตร Mai Tai ในวันดังกล่าวที่มีการบันทึกไว้ประกอบด้วย
2 ounces 15-year old J. Wray Nephew Jamaican rum
1/2 ounce French Garnier Orgeat
1/2 ounce Holland DeKuyper Orange Curacao
1/4 ounce Rock Candy Syrup
Juice from one fresh lime
Hand shake and garnish with half of the lime shell and float a sprig of fresh mint at the edge of the glass
หลังจากนั้น วิคเตอร์ เจ.เบอร์เจอรอน จึงบรรจุชื่อค็อกเทลแก้วนั้นในเมนู พร้อมกับตั้งชื่อว่า “มาอิ ตาอิ” (Mai Tai) ก่อนจะบรรจุในเมนูร้าน “เทรเดอร์ วิคส์” (Trader Vic’s) ของเขาที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก
ที่สำคัญไม่ได้ออกเสียงว่า “ไหมไทย” และมี “ต้นกำเนิดจากประเทศไทย” ดังที่เข้าใจกันมาตลอด แม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีคนคิดว่าเป็นอย่างนั้นอยู่…!!!
วิคเตอร์ เจ. เบอร์เจอรอน นั้นนอกจากเป็นเจ้าของบาร์แล้ว ได้ชื่อว่าเป็นนักเดินทางท่องเที่ยวตัวยงคนหนึ่ง บรรยากาศที่เขาโปรดปรานเป็นพิเศษคือ หาดทราย สายลม แสงแดดในหมู่เกาะแคริบเบียน และแปซิฟิก ภาพของหนุ่มสาวชาวเกาะเล่นระบำรำฟ้อนตามชายหาด ตลอดจนอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ชาวเกาะ ฝังและตราตรึงในหัวใจของเขาตลอดเวลา และคิดว่าสักวันจะเปลี่ยนบาร์เล็กๆ ของเขาให้เป็นสไตล์ชาวเกาะให้ได้
วันหนึ่งเขาก็สานฝันจนเป็นจริง ในปี 1937 ฮิงกี้ ดริ๊งค์ ที่โอ๊คแลนด์ ถูกปรับเปลี่ยนเป็น เทรเดอร์ วิคส์ (Trader Vic’s) โดยอีสเธอร์ (Esther) ภรรยาของเขาเป็นผู้ตั้งชื่อให้ จากพฤติกรรมของสามีที่ชอบซื้อขายแลกเปลี่ยน อาหารการกิน เครื่องดื่ม และการบริการ กระทั่งปัจจุบันเทรเดอร์ วิคส์ มีสาขาต่างๆ ทั่วโลกกว่า 20 แห่ง ทั้งในลอนดอน โตเกียว มิวนิค แวนคูเวอร์ โตรอนโต โอซากา สิงคโปร์ และประเทศไทย ซึ่งเปิดมากว่า 25 ปี โดยที่เปิดครั้งแรกนั้นคือ โรงแรมแมริออท รีสอร์ท แอนด์ สปา ปัจจุบันเป็นโรงแรม อนันตรา ริเวอร์ ไซด์ กรุงเทพฯ รีสอร์ต (Anantara Riverside Bangkok Resort) ในบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา
จริงๆ แล้วการทำ Mai Tai ตามแบบฉบับดั้งเดิม ต้องใช้เวลาในการตระเตรียมส่วนผสมนานพอสมควร เนื่องจากส่วนผสมค่อนข้างมาก บางอย่างต้องคั่วบางอย่างต้องบดก่อนจะนำมาผสมผสานกันอย่างลงตัว ตอนที่มาเมืองไทยครั้งแรก มีบาร์เทนเดอร์จาก Trader Vic’s สหรัฐมาทำให้ดู เห็นแล้วไม่ธรรมดา ปัจจุบันเทคโนโลยีทันสมัยขึ้น ส่วนผสมสามารถเตรียมไว้ล่วงหน้าได้โดยไม่เสียรสชาติ
หนึ่งในส่วนผสมที่สำคัญของ Mai Tai ที่ Trader Vic’s ในครั้งนั้น เขาเรียกว่า Mai Tai Mix เป็นส่วนผสมที่เป็นสูตรเฉพาะของ Trader Vic’s เท่านั้น ลักษณะคร่าว ๆ คือ น้ำเชื่อมรสถั่วอัลมอนด์ ส่วนที่นอกเหนือจากนั้นขอแนะนำให้ท่านไปที่ Trader Vic’s แล้วกระซิบถามบาร์เทนเดอร์
ที่สำคัญนอกจาก Mai Tai ยังมีค็อกเทลให้เลือกอีกมากมาย เช่น Bangkok Sour ที่ครีเอทสำหรับ Trader Vic’s โดยเฉพาะ ขณะที่ Tropical Tai Wave เป็นค็อกเทล 3 แก้ว 3 สไตล์ และ Tiki Grog ค็อกเทลในภาชนะดินเผาสีดำ ที่ซ่อนเสน่ห์ของ Tiki ไว้ภายใน เป็นต้น พร้อมดนตรีสดที่สนุกสนานมาก นักดนตรีเป็นคิวบา 2 คน กับคนไทยอีก 1 คนที่เล่นผสานกันได้ยอดเยี่ยมมาก
ไหน ๆ ก็มาถึง Trader Vic’s ก็ขอพูดถึงอาหารสไตล์ “แปซิฟิก ริม” สักหน่อย “แปซิฟิก ริม” (Pacific Rim Food) เป็นอาหารที่มีมานานแล้ว โดยมีมากในประเทศที่เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ถือเป็นศูนย์กลางของอาหารแปซิฟิก ริม คือฮาวาย ร้านอาหารไม่ว่าจะอยู่นอกโรงแรม และในโรงแรมจะต้องมีเมนูแปซิฟิก ริมไว้บริการลูกค้า ร้านไหนไม่มีถือว่าเชยหรือล้าสมัย ขณะที่คนที่ไปฮาวายแล้วไม่ลิ้มลองอาหารแปซิฟิก ริม ถือว่ายังไปไม่ถึงฮาวาย
อย่างไรก็ตามแม้จะมีมากในฮาวาย แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าอาหารแปซิฟิก ริม ถือกำเนิดในฮาวาย นอกจากคาดเดากันว่าแปซิฟิก ริม คงเกิดขึ้นในหมู่เกาะในแปซิฟิก ซึ่งรวมฮาวายอยู่ด้วย
แต่สิ่งที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจอาหารแปซิฟิก ริมก็คือมนต์เสน่ห์ของอาหารสไตล์นี้ก็คือรสชาติที่เกิดจากการนำรสชาติและเอกลักษณ์ของอาหารแต่ละประเทศหรือชนชาติที่อาศัยอยู่บนหมู่เกาะแปซิฟิกมาผสมผสานกันอย่างลงตัว แปลกใหม่ ได้ความสดหวานจากส่วนผสมที่สดและเป็นธรรมชาติ
นอกจากนั้นสิ่งที่แตกต่างจากอาหารชนิดอื่นอย่างสิ้นเชิง จนเรียกว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือเครื่องไม้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ เช่น หม้อเครื่องปั้นดินเผา เตาอบแบบจีน กระทะจีน และไม้ไผ่ เป็นต้น
สิ่งสำคัญอีกอย่างคือกระบวนการปรุง เชฟต้องเก่งหรือมีความสามารถอย่างสูงในการเลือกวัตถุดิบ เครื่องปรุง หรือส่วนผสมของแต่ละพื้นที่ แล้วนำมาผสมผสานกันให้ลงตัว ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักเลือกส่วนผสมที่สามารถทดแทนกันได้
บางคนบอกว่า “อาหารแปซิฟิก ริม” กับ “อาหารฟิวชั่น” (Fution Food) มีส่วนคล้ายกันในแง่ที่เกิดจากผสมผสานทางวัฒนธรรมให้เป็นเมนูใหม่ โดยฟิวชั่นเป็นการผสมผสานอาหารตะวันตกกับตะวันออก ขณะที่แปซิฟิก ริมเน้นความเป็นแปซิฟิกมากกว่า
ในเมืองไทยถ้าอยากลิ้มรสอาหารแปซิฟิก ริม พร้อม Mai Tai สูตรดั้งเดิม เชิญมาที่ Trader Vic’s แล้วอย่าลืมตะโกน “Mai tai-roa aé….”..!!