“Monkey Shoulder” มิติใหม่แห่ง“เบลนเดด มอลต์”

Gie him strong drink until he wink,

That’s sinking in despair;
An’ liquor guid to fire his bluid,
That’s prest wi’ grief and care:
There let him bouse, an’ deep carouse,
Wi’ bumpers flowing o’er,
Till he forgets his loves or debts,
An’ minds his griefs no more.

ท่อนหนึ่งจากบทประพันธ์ชื่อ Scotch Drink ของโรเบิร์ต เบิร์น  (Robert Burns) จินตกวีชาวสก็อตแลนด์ ผู้เขียนโคลง กลอนจนลือชื่อไปทั่วโลก และเกี่ยวข้องกับคนไทยเหมือนที่คนไทยชอบสก็อต วิสกี้ ถ้ายังนึกไม่ออกก็ร้องร้องเพลง สามัคคีชุมนุม” ที่นำมาจาก “ออลด์ แลง ไซน์” (Auld Lang Syne) ซึ่งโรเบิร์ต เบิร์น ประประพันธ์ไว้ในปี 1788 ถูกนำมาร้อยเรียงเนื้อร้องเป็นภาษาไทยโดยเจ้าพร­ะยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี

Robert Burns ได้ชื่อว่าเป็นคนรักวิสกี้ตัวยง เขามีงานเขียนเกี่ยวกับวิสกี้หลายชิ้น ที่โด่งดังก็คือ Scotch Drink นี่เอง เอามาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศสก็อต วิสกี้

ในบรรดาวิสกี้ทั้งหมดแหล่ในโลกนี้ สามารถแบ่งได้ 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1.Malt Whisky มอลต์ วิสกี้ คือวิสกี้ที่มาจากมอลต์แท้ๆ ของข้าวบาร์เลย์ และ

สามารถแบ่งได้อีก เป็นมอลต์แท้ๆ จากโรงกลั่นเดียว หรือจากหลายโรงกลั่น

2.Grain Whisky เกรน วิสกี้ คือวิสกี้ที่ทำจากธัญพืชชนิดอื่น เช่น ข้าวสาลี ข้าวไรน์ หรือแม้แต่ข้าวโพด

3.Blended Whisky เบลนเดด วิสกี้ บางคนเรียกว่าวิสกี้ลูกผสม เพราะเกิดจาก Malt และ Grain

ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกสามารถผลิตวิสกี้จากข้าวหรือเมล็ดธัญพืชใดก็ได้ แต่ในบรรดาวิสกี้ในโลก มีวิสกี้ 2 ชนิดที่มียอดขายมากที่สุดคือสกอต วิสกี้ (Scotch Whisky) และเบอร์เบิร์น วิสกี้ (Bourbon  Whisky) นอกจากนั้นยังพอมีวิสกี้จากชาติอื่น ๆ แทรกเข้ามาบ้าง เช่น ไอร์แลนด์ แคนาดา และญี่ปุ่น เป็นต้น

สก็อต วิสกี้ (Scotch Whisky) เครื่องดื่มประจำชาติของสก็อตแลนด์ และเบอร์เบิร์น วิสกี้ (Bourbon  Whisky) เครื่องดื่มประจำชาติของสหรัฐ นั้นมีกฎเกณฑ์ในการผลิตที่แน่นอน เรียกว่ามีกฎหมายบัญญัติการเรียกสุราที่ผลิตโดยโรงกลั่นก็ตามว่า Scotch หรือ Bourbon จะต้องผลิตให้ได้มาตรฐาน ซึ่งจะขอกล่าวในตอนต่อ ๆ ไป ตอนนี้ขอพูดถึง Scotch Whisky ก่อน

วิสกี้ที่คอวิสกี้ทั่วโลกยกย่องว่าเป็นวิสกี้เกรดสูงคือมอลต์ วิสกี้ (Malt Whisky) ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเบลนเดด วิสกี้ (Blended Whisky) ถูกมองว่าผู้ผลิตส่วนมากทำกันเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีสูตรตายตัวทำออกมาเอาใจคนส่วนมากจึงไม่มีอะไรน่าสนใจจะศึกษาหรือลิ้มลอง

Malt Whisky แบ่งเป็น 2 ประเภทคือซิงเกิ้ล มอลต์ (Single Malt) เป็นวิสกี้ที่ทำจาก Malt แท้ๆ อาจจะมาจากหลายไร่ในเขตเดียวกันหรือใกล้เคียง โดยแบ่งเป็น 4 เขตหลักๆ ในอดีตคือ Highland,Lowland,Campbell Town และ Islays ต่อมา Campbell Town ไม่มีกำลังผลิตที่ดีจนล้มเลิกไป ดังนั้นวิสกี้ใน Campbell Town จึงถูกนำไปรวมกับหมู่เกาะต่างๆ นอกชายฝั่งสก็อตแลนด์  ขณะที่ใน Highland ก็เกิดเขตใหม่ชื่อ Speyside ซึ่งกลายเป็นเขตที่ 4 แทน เป็นต้น เมื่อได้ Malt มาแล้วกระบวนการผลิตต้องทำจากโรงกลั่นเพียงแห่งเดียว ต้องมาจากแหล่งน้ำในพื้นที่นั้น ๆ จากนั้นนำเหล้าจากถังต่างๆ มาผสมกันจนได้รสชาติที่กลมกล่อม เรียกว่า Single Malt แล้วตั้งชื่อตามพื้นที่และโรงกลั่น

ประเภทที่ 2 คือแวตเต็ด มอลต์ (Vatted Malt) หรือมอลต์ผสม เกิดจากการที่เอาวิสกี้ที่มาจากมอลต์แท้และกลั่นจากโรงกลั่นต่าง ๆ มาผสมกัน โดยการกำหนดอายุของวิสกี้ให้ดูจากถังที่อายุน้อยที่สุด เป็นวิสกี้ที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษามอลต์  วิสกี้

นั่นเป็นเรื่องของ Malt Whisky อย่างไรก็ตามวิสกี้ที่มีมากที่สุดในท้องตลาดทั่วโลก กลับเป็น เบลนเดด วิสกี้ (Blended Whisky) ซึ่งกำเนิดในเมืองคิลมาร์น็อค (Kilmarnock) เริ่มจากร้านขายของชำของตระกูลวอล์กเกอร์นำเบลนเดด วิสกี้ออกขายจนได้รับความนิยมเพราะราคาไม่สูงเท่ามอลต์ วิสกี้ และรสชาติก็ไม่ได้เลวร้ายเลย  สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะในยุคแรก บริษัทที่ทำวิสกี้มักจะเป็นร้านขายของชำ หรือโรงกลั่นเล็กๆ ที่แลกหรือซื้อวิสกี้จากโรงกลั่นอื่นๆ มาเบลนด์กันเอง

จากสังคมถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ก็กลายเป็นอุตสาหกรรมจนถึงปัจจุบัน  ว่ากันว่าในบรรดาโรงกลั่นที่เหลือในปัจจุบันที่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง และมีกำลังผลิตสู่ตลาดโลกในปริมาณมากมีเพียง เกลนฟิดดิช (Glenfiddich) แห่งเดียว ที่เหลือเป็นโรงกลั่นขนาดเล็กหรือถูกอดีตสมาพันธ์ร้านขายของชำ หรือสมาคมโรงกลั่นเล็กที่มารวมตัวกันควบกิจการไปจนหมดสิ้น

ถ้าพูดเรื่อง “รสชาติ”  Blended Whisky มักจะถูกมองว่าเป็นวิสกี้เกรดต่ำ ขนาดยี่ห้อแพง  ๆ เมื่อถูกประกบกับ Single Malt แล้ว ราคาก็ยังถูกกว่ามาก ขณะที่คอวิสกี้หลาย ๆ คนบอกว่า ราคาไม่ได้หมายความว่า Blended Whisky จะด้อยไปกว่า Malt Whisky โดยคนกลุ่มนี้มองว่า Blended Whisky มีเสน่ห์ตรงที่มีความหลากหลาย และรสชาติที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายกว่า Malt Whisky เนื่องจาก Malt Whisky นั้นต่อให้ใช้ Malt เกรดดีเพียงใด ถังไม้เกรดเยี่ยมขนาดไหน หรือน้ำแร่คุณภาพดีเพียงใด ก็ยังต้องยึดโยงติดอยู่กับ “ธรรมชาติ” เพราะรสชาติที่มาจากธรรมชาติแท้ๆ ไม่มีการปรุงแต่ง ย่อมขาดซึ่งความหลากหลาย

ผมเคยคุยกับนักชิมวิสกี้จากทั่วโลก คำถามหนึ่งที่ผมชอบถามพวกเขาก็คือ “ทำไมเวลาชิม Blended Whisky คะแนนจึงค่อนข้างต่ำหรือต่ำไปเลย ทั้งที่หลายตัวรสชาติดีมาก ?”… คำตอบส่วนใหญ่ที่ได้คือ …การเอาวิทยาศาสตร์มาช่วยทำให้รสชาติดีกว่าธรรมชาติ การให้คะแนนต้องตัดปัจจัยเรื่องรสชาติลงไป เพราะเป็นการเอาเปรียบวิสกี้ชนิดอื่น… นั่นเป็นเรื่องของคะแนน แต่ในความเป็นจริง Blended Whisky เหนือกว่าทุกอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตลาด Blended Whisky ยี่ห้อดังๆ จาก สกอตแลนด์ แคนาดา ไอร์แลนด์ และสหรัฐ โกยเงินกันอย่างมหาศาล

พูดถึงการ Blend ในบ้านเรามีมิติใหม่ของการ Blend เกิดขึ้น เข้ามาขายในเมืองไทยพอสมควรแล้ว เพิ่งจะมาเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบเมื่อไม่นานมานี้ ภายใต้ชื่อ มังคี โชลเดอะ (Monkey Shoulder) ส่วนจะเป็นเป็นเบลนด์อย่างไรต้องติดตามกัน…

Monkey Shoulder ไม่ใช่เบลนเดด สก็อต วิสกี้ (Blended Scotch) แต่น่าจะเรียกว่า “เบลนเดด มอลต์ สก็อต วิสกี้” (Blended Malt Scotch) บางคนบอกว่าฟังดูแล้วงงพอ ๆ กับกระดกสก็อต….นั่นหมายความว่าไม่มีส่วนผสมของเกรน วิสกี้ (Grain Whisky) แต่ทุกหยาดหยดเป็นซิงเกิ้ล มอลต์ (Single Malts) ล้วน ๆ นั่นคือ Glenfiddich,Balvenie และ Kininvie ซึ่งเป็นผลผลิตจากโรงกลั่นดัฟฟ์ทาวน์ (Dufftown distilleries) ของวิลเลี่ยม แกรนต์ (William Grant) ในเขตสเปย์ไซด์ (Speyside) คัดเลือกมาทำเพียง 27 ถัง (casks) เท่านั้น

จากการผสมผสานที่ลงตัวดังกล่าว ทำให้ Monkey Shoulder เป็นสก็อต วิสกี้ ระดับพรีเมียม (Premium Scotch Whisky) แอลกอฮอล์ 40% แต่มีรสชาติที่นุ่นนวล หอมหวาน และดื่มง่าย ๆ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านวิสกี้บอกว่าเป็น …A smooth and rich ‘triple’ malt Scotch…. ซึ่งคำนี้น่าจะเป็นคำแรก ๆ ของโลก

Monkey Shoulder มีเอกลักษณ์สำคัญคือลิงโลหะ 3 ตัวเกาะอยู่ที่บนไหล่ของขวด นัยของลิงดังกล่าวเลียบแบบมาจากคนงานตักข้าวบาร์เลย์ ที่ต้องใช้พลั่วตักข้าวเป็นกิจวัตรประจำวัน ๆ ละนับร้อย ๆ เที่ยว มีคนสังเกตว่าลักษณะการโยกใหล่ของพวกเขารวดเร็วราวกับลิง

Monkey Shoulder มีกลิ่นหอมของเชอร์รี สตรอว์เบอร์รี ซีททรัส วานิลลา โกโก สไปซีเฮิร์บ เช่น อบเชย กานพลู และจันทร์เทศ นอกนั้นยังมี มินต์ น้ำผึ้ง เปลือกส้ม ลูกแพร์อบกรุ่น ๆ ขนมปังบัทเทอร์สกอตช์ ถั่วคั่ว ข้าวบาร์เลย์ โอค ชอกโกแลต จบด้วยวานิลลา เปลือกส้ม เปปเปอร์มินต์ เฮิร์บชุ่ม ๆ และสไปซี

Monkey Shoulder สามารถดื่มได้หลากหลายรูปแบบ ตามแบบฉบับของ Malt Whisky ชั้นดี รวมทั้งเป็นส่วนผสมของค็อกเทลนานาชนิด.1 ในค็อกเทล Balvenie อีกหนึ่งในส่วนผสม Glenfiddich 1 ในส่วนผสมของ Monkey Shoulder Kininvie อีกหนึ่งของส่วนผสม จินตนาการสู่ตำนาน นายแบบ รูปตำนานของ Monkey Shoulder ลิง 3 ตัวที่ขวด สูตรของ Monkey Shoulder Monkey Shoulder - Melbourne

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...