“Rottnest Island”อาณาจักรแห่งหนูยักษ์

หินที่ไกด์บอกว่าเหมือนหัวมังกร Dome coffee shop Quokka เจ้าถิ่นตัวจริง Rottnest Fast Ferries Rottnest General Store Rottnest salt store ไกด์และคนขับรถ แตงโมในซูเปอร์ นกพิลิแกนที่คุ้นเคยกับนักท่องเที่ยว พนักงานต้อนรับที่ท่าเรือบนเกาะ พริกเม็ดโตในซูเปอร์ พิพิธภัณฑ์เกลือ มุมหนึ่งใน Hotel Rottnest ไวน์ดีก็มีขายบนเกาะ สถานที่ประกอบศาสนกิจ หนึ่งในซีฟูดของ Hotel Rottnest หนึ่งในปืนใหญ่ที่ใช้ป้องกันเกาะ หนึ่งในมุมที่งดงามRottnest Island เป็นเกาะที่ลอยอยู่ในทะเล ห่างจากชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ของรัฐ Western Australian ประมาณ 18 กิโลเมตร หรือประมาณ 11 ไมล์ การเดินทางไปยังเกาะนี้นิยมมาลงเรือเร็วที่ท่าเรือใกล้ ๆ เมือง Fremantle ซึ่งเมืองนี้เดินทางจากจากเพิร์ธ เมืองหลวงของรัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลีย ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงเศษ ๆ สามารถไปเช้ากลับเย็นได้อย่างสบาย ๆ จะมาเองหรือใช้บริการบริษัททัวร์ก็ได้

Rottnest Island เป็นสถานที่ที่คนออสเตรเลีย โดยเฉพาะชาวรัฐ Western Australian นิยมมาเที่ยวพักผ่อนมายาวนานกว่า 50 ปี และเรียกสั้น ๆ ว่า “Rotto” หรือ “Rottnest” แต่เดิมถูกเรียกโดยชาวพื้นเมืองว่า Wadjemup หมายถึง “place across the water” พื้นที่รวมของเกาะประมาณ 19 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น ส่วนที่ยาวที่สุด 11 กิโลเมตร แคบที่สุด 4.5 กิโลเมตร

ไกด์สาวใหญ่ซึ่งทำหน้าที่ขับรถบัสพานักท่องเที่ยวชมรอบ ๆ เกาะเล่าให้ฟังว่า เกาะนี้สันนิษฐานว่าเกิดจากการแยกตัวจากแผ่นดินใหญ่เมื่อกว่า 7,000 ปีที่แล้ว และไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นพัน ๆ ปี เนื่องจากชาวอะบอริจิ้นไม่มีเรือที่จะสามารถเดินทางไปถึงเกาะได้ จนกระทั่งชาวยุโรปกลุ่มแรกเดินทางมาในช่วงศตวรรษที่ 17

ปัจจุบัน Rottnest Island เป็นสมบัติของรัฐ ไม่มีพื้นที่ส่วนตัวของเอกชน โดยถูกดูแลรักษาโดยหน่วยงานที่เรียกว่า Rottnest Island Authority ซึ่งออกกฏหมายเป็นพิเศษตั้งแต่ปี 1899 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ดูแลเก็บค่าเช่า โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ฯลฯ บนเกาะ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณอ่าวธอมสัน (Thomson Bay)

ผมเดินทางไปยังเกาะ Rottnest ด้วยเรือเร็วของบริษัท Rottnest Fast Ferries จากท่าเรือฮิลลารีย์ (Hillarys) เมืองฟรีแมนเทล (Fremantle) ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ห่างจากเพิร์ธประมาณ 20 นาที ท่าเรือฮิลลารีย์เป็นท่าเรือที่นักท่องเที่ยวใช้เดินทางไปยังเกาะ Rottnest มากที่สุด และก็เป็นวิธีที่นิยมกันมากที่สุด สนามบินก็มีแต่เป็นสนามบินทหารที่เคยใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ลงไม่ได้

ท่านที่พักอยู่ในเพิร์ธก็สามารถเดินทางไปเกาะ Rottnest แบบเช้า-เย็นกลับได้ และสามารถสอบถามโปรแกรมทัวร์ได้จากโรงแรมที่ท่านพัก แต่จะให้ได้บรรยากาศขอแนะนำให้ไปพักที่เมือง Fremantle สักคืน เป็นเมืองเล็ก ๆ แต่มีเสน่ห์หลายอย่างทั้งอาหารการกินประเภทซีฟู้ด และบรรยากาศในตัวเมือง

ใครอยากชมทิวทัศน์ก็ออกไปด้านนอกเรือ แต่ถ้าอยากจะหลับสักงีบด้านในติดแอร์เย็นสบาย ถ้าเมาเรือควรกินยาแก้เมาเรือก่อนลงเรือประมาณ 20 นาที เรือนี้จะวิ่งวันละ 3 เที่ยว ค่าโดยสารไป-กลับภายในวันเดียว ผู้ใหญ่ 83 เหรียญออสเตรเลีย เด็ก 45 เหรียญ นอกนั้นยังมีตั๋วนักเรียนและตั๋วครอบครัว จะเช่าจักรยานปั่นเที่ยวรอบ ๆ เกาะก็จองจากเรือได้เลย ผู้ใหญ่ 15  เหรียญ เด็ก 9 เหรียญ ขากลับเอาก็จักรยานมาคืนที่ท่าเรือ และเขาจะเอาจักรยานลงเรือกลับมาด้วย

ขณะที่เรือวิ่งไปนั้นจะมีฝูงปลาโลมออกมาเล่นคลื่นหยอกล้อนักท่องเที่ยวเป็นระยะ ๆ ทำให้คนบนเรือผ่อนคลายไปได้ ใช้เวลาแล่นประมาณ 40 นาทีเรือจะไปเทียบท่าบริเวณอ่าวธอมสัน (Thomson Bay) ซึ่งบริเวณนี้เป็นแหล่งรวมของสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงแรม ซูเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งสถานที่สำคัญ ๆ เก่าแก่บางอย่างที่ยังรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน

นักท่องเที่ยวที่มีเวลาเพียง 1 วันนิยมใช้บริการรถทัวร์ที่มีไกด์พาเที่ยวชมรอบ ๆ เกาะ ซึ่งส่วนใหญ่คนขับและไกด์คือคนเดียว ๆ กัน จะพาชมสถานที่สำคัญ ๆ แวะถ่ายรูปเป็นบางแห่ง ใช้เวลาเที่ยวละประมาณ 2 ชั่วโมง ช่วงที่ผมไปนั้นสภาพอากาศหนาวมาก ที่สำคัญก็คือลมแรงมาก ลงจากรถไปดูความงดงามของท้องได้แห่งละประมาณ 10 นาทีก็ต้องรีบกลับรถขึ้น คันที่ผมไปนั้นมีผู้โดยสารประมาณ 40 คน เกือบ 30 เป็นผู้สูงอายุ บางคนน่าจะเกิน 70 ปี เจอลมเย็นแรง ๆ ผมบอกกับเพื่อน ๆ ร่วมทริปว่าคำพูดที่ว่า…สั่นเป็นลูกนก…คงใช้ไม่ได้กับงานนี้ น่าจะเป็น…สั่นเป็นปู่เป็นย่านก…มากกว่า แอบหยอกคนแก่ฝรั่ง

….Rottnest Island ถูกสังเกตเห็นเป็นครั้งแรกโดยนักเดินเรือชาวดัตช์ ในช่วงปี 1610 แต่ที่ขึ้นเกาะมาเป็นกลุ่มแรกเป็นกลาสีเรือ 13 คนของเรือ Waeckende Boey นำโดย Abraham Leeman มาขึ้นเกาะบริเวณ Bathurst Point เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 1658 เรือ Waeckende Boey นั้นลอยลำมาจาก Batavia (ปัจจุบันคือ Jakarta) ของอินโดนีเซีย เพื่อค้นหาเรือ Vergulde Draeck ที่หายไปในท้องทะเล ต่อมาภายหลังจึงพบว่าอับปางอยู่ห่างจากบริเวณ Ledge Point ในปัจจุบันไปทางเหนือประมาณ 80 กิโลเมตร พร้อมกับพบบันทึกส่วนตัวของ Samuel Volkersenn กัปตันเรือ Waeckende Boey ที่เขียนเกี่ยวกับการพบเกาะแห่งนี้ไว้หลายอย่าง โดยเฉพาะความน่ากลัวของเกาะมีทั้งภูเขาสูง และกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก ในแผนที่ปี 1681 ของ John Daniel กัปตันเรือชาวอังกฤษระบุว่าเกาะนี้ชื่อ Maiden’s Isle ซึ่งอยู่ในพิกัดเดียวกัน และเชื่อว่าก็คือเกาะ Rottnest นี่เอง

Rottnest Island มาจากคำว่า “Rotte nest” ในภาษาดัตช์ หมายถึง “ที่อยู่ของหนู” (Rat nest) ผู้ที่ตั้งชื่อให้คือกัปตัน Willem de Vlamingh ซึ่งใช้เวลา 6 วันในการสำรวจบนเกาะ เริ่มจากวันที่ 29 ธันวาคม 1696  พบว่าสัตว์คล้ายหนูขนาดใหญ่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยไม่รู้ว่านั่นคือตัว Quokka แต่ก็พบว่าสัตว์พวกนี้ไม่ทำร้ายผู้คน ประกอบกับความงดงามบนเกาะเขาจึงเรียกชื่อว่า….สวรรค์บนดิน…“a paradise on earth”  จนทำให้มีนักสำรวจ และนักเดินทางจากยุโรปหลายชาติวนเวียนกันขึ้นมาสำรวจเกาะแห่งนี้ ที่สำคัญเกาะ Rottnest เป็น 2-3 พื้นที่ในโลกเท่านั้นที่พบ Quokka

ปี 1831 หลังจากมาการตั้งอาณานิคมอังกฤษ บริเวณ Swan River ใกล้ ๆ กับเมือง Fremantle ก็มีการจับฉลากผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้ขึ้นมาทำกินบนเกาะ ปรากฏว่า William Clarke และ Robert Thomson ได้สิทธิ์ โดย Robert Thomson พร้อมภรรยาและลูก 7 คนขึ้นมาอยู่บนเกาะในปี 1837 เขาทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์และทำเหมืองเกลือ ซึ่งถือเป็นสินค้าสำคัญส่งไปแผ่นดินใหญ่ ปัจจุบันก็มีพิพิธภัณฑ์เกลืออยู่บนเกาะใกล้ ๆ กับท่าเรือ

ปี 1838 นักโทษพื้นเมืองชาวอะบอริจิ้นกลุ่มแรก 6 คนถูกส่งขึ้นมาบนเกาะนี้ประกอบด้วย Helia คดีฆาตกรรม, Buoyeen คดีข่มขืน ส่วนอีก 4 คน Mollydobbin, Tyoocan, Goordap และ Cogat ข้อหาลักเล็กขโมยน้อย หลังจากอยู่ใม่นานทั้งหมดตัดสินใจขโมยเรือของ Robert Thomson เพื่อจะกลับขึ้นแผ่นดินใหญ่ ปรากฏว่า Helia จมน้ำตายที่เหลือรอดหวุดหวิด

ปีต่อมา Peter Broun ผู้ว่าการอาณานิคมประกาศให้ Rottnest เป็นเกาะสำหรับการทำให้ชาวอะบอริจิ้นเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ โดยปี 1838 และ 1931 ยกเว้น 1849 – 1855 เกาะ Rottnest ถูกใช้เป็นคุกสำหรับกักขังชาวอะบอริจิ้น มีตัวเลขว่าในยุคของการก่อตั้งเกาะนี้มีชาวอะบอริจิ้นทั้งเด็กและผู้ใหญ่เสียชีวิตด้วยสาเหตุต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคระบาด ไปประมาณ 3,700 คน

        วันที่ 16 พฤษภาคม 1881 มีการสร้างสถานกักกันและบำบัดเยาวชน ในลักษณะเรียงติดต่อกันคล้าย ๆ เรือนจำ มีทั้งเรือนปฏิบัติการ ครัว ห้องนอนรวม 2 หลัง ห้องเรียน และห้องขังเล็ก ๆ 4 ห้อง โดยมี John Watson ช่างไม้ที่ก่อสร้างสถานกักกันนี้เป็นผู้ควบคุม และเขาเป็นคนสอนเด็ก ๆ ให้เรียนรู้เกี่ยวกับงานช่างไม้ งานเชื่อมต่อ และสวนพืชผักผลไม้ ปี 1898 เคยมีเด็กหายไป 2 คน และพบว่าจมน้ำตาย จากความพยายามในการขโมยเรือเพื่อหลบหนี หลังจากเปิดมา 20 ปี สถานที่นี้ก็ถูกปิด ขณะที่มีผู้ถูกกักขังอยู่ 14 คน ซึ่งถูกส่งขึ้นไปเรียนในโรงเรียนช่างบนแผ่นดินใหญ่ และอาคารสถานที่ปัจจุบันถูกใช้เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกของ Rottnest Lodge

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เกาะ Rottnest ก็มีส่วนเกี่ยวพันด้วย เคยใช้เป็นค่ายกักกัน โดยในสงครามโลกครั้งที่ 1 ใช้เป็นที่กักกันชาวเยอรมันและออสเตรียที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าจะเป็นศัตรู ปัจจุบันยังมีซากของค่ายกักกันอยู่บริเวณ Caroline Thomson Camping Area ส่วนสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้กักกันชาวอิตาลี ค่ายนี้จุคนได้ประมาณ 120 คน ตั้งอยู่ใกล้กับทางขึ้นลงเครื่องบิน

ใกล้ ๆ กับ Thomson Bay ซึ่งเป็นท่าเรือที่มาจากแผ่นดินใหญ่ มีร้านอาหารสไตล์คาเฟกินง่าย ๆ ฝากท้องก่อนทัวร์เกาะชื่อ  Dome coffee shop เป็นร้านที่มีสาขาอยู่ทั่วรัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลีย น่าจะประมาณ 20 สาขา และบนเกาะแทสมาเนีย ส่วนรัฐอื่นยังไม่มี ขณะที่มื้อกลางวันผมใช้บริการของห้องอาหารในโรงแรม Hotel Rottnest ซึ่งมีซีฟู้ดอร่อย ๆ หลายอย่าง โรงแรมก็สวย สร้างตามแบบดั้งเดิมในยุคทศวรรษที่ 1800 ถ้ากินอาหารภายนอกตัวอาคาร จะมีนก 2-3 ชนิดมาร่วมวงกินด้วย

ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งเดียวบนเกาะชื่อ Rottnest General Store ขนาดใหญ่ที่สุดบนเกาะ ขายของสารพัดตั้งแต่ของที่ระลึกไปจนถึงอาหารการกิน ผักสด เนื้อสด เครื่องดื่มนานาชนิด คล้าย ๆ ฟูดแลนด์ในบ้านเรา อารมณ์ขันของร้านนี้จะมีรู้หนู Quokkas ไว้ตรงบานพับพลาสติกทางเข้า พร้อมเครื่องหมายสีแดงคาด สื่อความหมายว่าห้าม Quokkas เจ้าถิ่นเข้า ซึ่งก็คงเข้ายากเพราะถ้าจะเข้าต้องดึงออกมา ไม่สามารถผลักเข้าไปได้ ซึ่งแน่นอนเจ้าหนูยักษ์ไม่สามารถดึงได้….

เกาะ Rottnest ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมตลอดทั้งปีทั้งประจำและไม่ประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมทางน้ำ นอกจากนั้นยังมีการแข่งขันวิ่งมาราธอน การแสดงดนตรี ฯลฯ ในระดับนานาชาติ เป็นการโปรโมทการท่องเที่ยวนำเงินเข้าประเทศที่เป็นกอบเป็นกำ

สนับสนุนการเดินทางโดย บริษัท แอมโบรส ไวน์ จำกัด (Ambrose Wine Co.,Ltd.)

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...