“บลัวส์” : หนึ่งเสี้ยวประวัติศาสตร์ไทย

“บลัวส์”
หนึ่งเสี้ยวประวัติศาสตร์ไทย
วันที่ 22 – 23 กรกฎาคม พ.ศ.2229 ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งต้องบันทึกไว้ถึงการเจริญสัมพันธไมตรีของ 2 ประเทศ คือกรุงสยามรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับ ฝรั่งเศสที่ปกครองโดย พระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 สมัญญาว่าหลุยส์ พระอาทิตย์ (Le Roi de Soleil)
คณะราชทูตสยามที่มีออกพระวิสุทธิสุนทร (ปาน) เป็นอัครราชทูต เดินทางโดยทางเรือใช้เวลา 7 เดือน เพื่อไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส เมื่อกลับมาออกพระวิสุทธิสุนทร (ปาน) ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดีแทนพี่ชายคือเจ้าพระยาโกษาธิบดี(เหล็ก) และเราคุ้นกับชื่อของท่านคือเจ้าพระยาโกษาปาน นั่นเอง
คณะทูตเหยียบแผ่นดินฝรั่งเศสที่เมืองแบรสต์ แคว้นบริตานี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2229 แล้วเดินทางเรื่อยลงมาทางใต้เพื่อไปยังปารีส ช่วงหนึ่งได้ลัดเลาะตามเมืองต่าง ๆ ริมฝั่งน้ำลัวร์ และมาพักที่เมืองบลัวร์ ใน 2 วันดังกล่าว
เมือง “บลัวส์” (Blois) ที่คนฝรั่งเศสออกเสียงกระเดียดไปทาง “บล๊วกส์” เป็นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่สมัยโกล (Gaul) เข้ามาอยู่แถบนี้ อยู่ห่างจากปารีส 180 กิโลเมตร เป็นเมืองหลวงของเขตลัวร์ เอต์ แชร์ (Loir-et-Cher) ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำลัวร์ (Loire) ระหว่างเมืองออร์เลอองส์ (Orléans) กับเมืองตูร์ส (Tours)
ท่านที่เคยอ่านเรื่องมหาปราสาท “ชอมบอรด์” (Chambord) ที่ผมเขียนไปเมื่อไม่นานนี้คงจำได้ ว่าเจ้าพระยาโกษาปาน เคยพักที่ชอมบอร์ดด้วย แต่ก่อนที่ท่านจะไปพักที่นั่นได้แวะพักที่เมืองบลัวร์ 2 คืนดังกล่าว โดยเดินทางมาจากเมืองตูร์ แล้วแวะเมืองบลัวส์ซึ่งเป็นเมืองที่บรรดาลูกหลวงเดินทางมาศึกษาหาความรู้ หลังจากนั้นจึงเดินทางไปพักต่อ ณ ปราสาทชอมบอร์ดที่อยู่ห่างจากเมืองบลัวส์ประมาณ 15 กิโลเมตร
เมืองบลัวส์มีชาโต เดอ บลัวส์ (Château de Blois หรือ Château Royal de Blois) หรือ “ปราสาทแห่งเมืองบลัวส์” เป็นเสน่ห์สำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยว และผู้ที่หลงใหลเสน่ห์ของศิลปะแห่งชาโตลุ่มน้ำลัวร์ ดังนั้นทริปนี้จึงขอโฟกัสที่ปราสาทบลัวร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 29 กลุ่มปราสาทงดงามแห่งลุ่มน้ำลัวร์ และเป็น 1 ในชาโตที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส
ปราสาทเมืองบลัวร์ตั้งอยู่ใจกลางเมืองบลัวร์ ใช้เวลาในการสร้างถึง 4 ศตวรรษ ประกอบด้วยปราสาท 4 หลังในสไตล์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เชื่อมโยงกันด้วยศิลปะแบบกอธิกส์ เรอเนส์ซองส์ อิตาเลียน และเฟรนช์คลาสสิก เป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมศิลปะในช่วงเวลาดังกล่าวได้อย่างลงตัว โดยส่วนที่มีชื่อเสียงที่สุดคือบันไดวน และลวดลายศิลปะด้านหน้าอาคาร เอกสารหรือแผ่นพับเชิญชวนท่องเที่ยวก็ใช้ตรงนี้พิมพ์หน้าปก
ปราสาทเมืองบลัวร์ กำเนิดเมื่อดยุค หลุยส์แห่งออร์เลอองส์ (Louis, duc d’Orléans) พระญาติพระเจ้าชาร์ลที่ 6 กษัตริย์พระองค์ที่ 4 แห่งพระราชวงศ์วาลัวส์ ได้ซื้อปราสาทเก่าของเมืองนี้ไว้เป็นสมบัติ ในปี 1391 ต่อมาทายาทชาร์ลส์แห่งออร์เลอองส์ได้ตกเป็นเชลยของอังกฤษถึง 25 ปี จากสงครามอังกฤษ – ฝรั่งเศสที่อาแซงกูร์ โอรสของชาร์ลส์แห่งออร์เลอองส์ซึ่งต่อมาคือพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 ทรงสร้างปราสาทใหม่ที่เมืองบลัวส์ โดยใช้วิธีเสริมต่อกับปราสาทเก่า และตกแต่งให้สวยงาม สลักพระรูปพระองค์กำลังทรงม้าที่เหนือประตูทางเข้า เป็นต้น
หลังจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 สวรรคต ฟรองซัวส์ที่ 1 (François l) ขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ประทับอยู่ที่นี่พักหนึ่ง ก่อนจะไปสร้างปราสาทชอมบอร์ด ต่อมาแพ้สงครามต่อสเปน ถูกกักเป็นเชลย 1 ปี หลังจากเสด็จกลับมาก็ไม่สนพระทัยปราสาทเมืองบลัวส์ โดยไปประทับที่ออมบัวส์(Château d’Amboise) และซอมบอรด์ทั้งที่ยังไม่เสร็จ
อองรีที่ 3 (Henry III) ย้ายเมืองหลวงจากปารีสมาที่บลัวร์ ในช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มนิกายคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ ก่อนหน้านั้นสมัยอองรีที่ 2 พยายามไกล่เกลี่ยแต่ไม่สำเร็จ ส่วนหนึ่งเพราะเล่ห์เพทุบาย ของคัธรีนแห่งเมดิชิ (Catherine de’ Medici) พระชายาชาวฟลอเรนซ์,อิตาลีที่วางแผนสังหารหมู่กลุ่มนิกายโปรแตสแตนต์ในคืนของวันนักบุญเซนต์ บาโธโลมิวปี พ.ศ. 2115 จนกลายเป็นตำนานเลือด
เรื่องราวมาตรกรรมพี่น้องตระกูลกีส (Guise) และร้อยเล่ห์ของคัธรีนแห่งเมดิชิ (Catherine de Medici ) พระมารดาของกษัตริย์ฝรั่งเศส 3 พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์วาลัวส์ (ถ้ารวมพระราชบุตรเขยด้วยก็เป็น 4 พระองค์) เป็นการสิ้นสุดราชตระกูลที่ 3 ที่ปกครองฝรั่งเศส คือราชวงศ์วาลัวส์ (Valois)
อองรีที่ 3 เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์วาลัวส์ ซึ่งถูกสังหารโดยบาทหลวงฌากส์ เกลมองต์ ต่อมาอองรีแห่งนาวารร์ หัวหน้าฝ่ายโปรเตสแตนต์ได้สืบราชสมบัติเป็นพระเจ้าอองรีที่ 4 เป็นต้นราชวงศ์บูร์บอง (Bourbon) และเปลี่ยนไปเข้านิกายคาทอลิกเพื่อเอาใจชาวฝรั่งเศส พร้อมกับให้ปารีสเป็นเมืองหลวงของฝรั่งเศสตั้งแต่นั้น โดยกล่าวประโยคที่มีชื่อเสียงว่า “Paris is worth a mass”
รัชทายาทของพระเจ้าอองรีที่ 4 ที่คนไทยรู้จักกันดีคือพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่เจ้าพระยาโกษาปาน นำคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีตามที่กล่าวในตอนต้น และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 นี่เองที่พยายามชักชวนให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเปลี่ยนศาสนาไปนับถือคาทอลิก
ในห้องหนึ่งของปราสาทเมืองบลัวร์ ยังมีเตียงบรรทมของอองรีที่ 3 มีม่านห้อยประดับล้อมรอบเตียง เพื่อกั้นให้เป็นส่วนตัวและช่วยเพิ่มความอบอุ่น ขณะที่เตียงสั้นมากจนคนทั่วไปคิดว่าพระองค์มีพระวรกายเตี้ย ความจริงก็คือพระองค์มีพระประสงค์จะบรรทมในท่าครึ่งนั่งครึ่งนอน หลังเอนหนุนหมอนหลาย ๆ ใบ ตามความเชื่อถือโชคลางว่าการนอนราบคือท่านอนของคนตาย
จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญมาตรกรรมดยุคแห่งกีส (Duc de Guise) ดังกล่าวทำให้จิตรกรหลายคนใช้จินตนาการวาดภาพจำลองเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นไว้ ส่วนหนึ่งถูกนำมาแขวนไว้ ณ ปราสาทแห่งนี้ เช่นในห้องบรรทมของพระเจ้าอองรีที่ 3 มีภาพดยุคแห่งกีส นอนตายอยู่ในห้องบรรทม วาดโดยปอล เดลาโรซ เป็นต้น
มาถึงเมืองบลัวร์แล้วต้องกินอาหารพื้นเมืองของเขา ที่แนะนำเป็นพิเศษคือพวกกุ้ง หอย ปู ปลา จากแม่น้ำลัวร์ ซึ่งมีให้เลือกตามร้านเล็กร้านน้อยไปจนถึงภัตตาคารตามโรงแรม และที่ขาดไม่ได้คือต้องกินกับไวน์ขาวชื่อดังของแคว้นลัวร์คือ ซองแซร์ (Sancerre) และปุยญี – ฟูเม (Pouilly-Fumé) ที่ทำจากองุ่นโซวีญยอง บลัง (Sauvignon Blanc) กลับมาเมืองไทยท่านที่ไม่ชอบไวน์ขาวต้องเปลี่ยนใจ ส่วนท่านที่ชอบไวน์ขาวอยู่แล้วยิ่งรักมากขึ้น แต่ถ้าชอบไวน์แดงก็ไม่ผิดหวังเพราะไวน์แดงของลัวร์ส่วนใหญ่ทำจากกาแบร์เนต์ ฟรัง (Cabernet Franc) และปิโนต์ นัวร์ (Pinot Noir) ที่ดื่มง่าย ๆ หลายยี่ห้อเข้ากับซีฟู้ดได้ดีด้วย
หนึ่งในร้านอาหารที่ผมชอบอยู่ในโรงแรมเลอ เมดิซิส์ (Le Medicis) เป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว เล็ก ๆ แต่น่ารัก อยู่ห่างจากปราสาทบลัวร์ประมาณ 1 กิโลเมตร ทำอาหารได้อร่อยมาก โดยเฉพาะอาหารประเภทปลาพื้นเมืองจากแม่น้ำลัวร์ เช่น Muge de Loire ส่วนอีกจานเป็นเนื้อลูกวัวชื่อ Confit de Veau faom osso-buco เป็นต้น
จริง ๆ แล้วร้านที่ผมอยากไปมาก หลังจากไปครั้งแรกเมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อนหน้านี้คือร้าน L’Orangerie du Chateau อยู่ตรงกันข้ามกับปราสาทบลัวร์นั่นเอง เป็นร้าน 1 ดาวมิเชอลิน ปรากฏว่าตรงกับวันพุธเขาหยุด ตัวร้านสวยมากสร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 เป็นอาหารฝรั่งเศสตอนเหนือ (Haute Cuisine) ท่านที่ไปเมืองบรัวส์ควรแวะร้านนี้
ปัจจุบันปราสาทเมืองบลัวส์อยู่ในการดูแลของรัฐบาลท้องถิ่นเมืองบลัวร์ ตอนที่ผมไปนั้นเสียค่าเข้า 7 ยูโร การเดินทางสนามบินที่ใกล้ที่สุดคือปารีสแล้วไปโดยทางรถยนต์ประมาณ 2 ชั่วโมง หรือโดยรถไฟ Austerlitz ถ้าจะไปโดยรถด่วนเตเจเว (TGV) ต้องไปลงที่เมืองตูส์ แล้วต่อรถอีกประมาณ 40 นาที
Blois1

Blois2

Blois2a

Blois3

Blois4

Blois5

Blois6

Blois7

Blois8

Blois11

Blois12

Blois13

Blois14

Blois15

Blois16

Blois17

Blois18

Blois19

Blois20

Blois21

Blois22

Blois24

chateau-royal-vue-d-en-haut

Henry III

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...