ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา “จิน” (Gin) กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในตลาดเมืองไทย ปัจจุบันมีให้เลือกหลายสิบยี่ห้อ หลากหลายสไตล์ และจากหลายประเทศ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการบูมของเครื่องดื่มค็อกเทล ซึ่งหลายสูตรใช้จินเป็นส่วนผสม ผู้คนในแวดวงจึงต้องแสวงหาจินใหม่ ๆ มาเพื่อสร้างสรรค์ค็อกเทล
ที่ผ่านมาคนไทยคุ้นเคยกับ Gin จากหนังเจมส์ บอนด์ 007 ซึ่งแม้จะเปลี่ยนพระเอกไปหลายคน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนของพระเอกสายลับคนดังก็คือเครื่องดื่มประจำตัว “มาร์ตินี ดราย” (Martini Dry) ซึ่งมี Gin เป็นพระเอก พร้อมคำสั่งพิเศษ “เขย่า แต่ไม่คน”
“Gin” เป็นสุรากลั่นที่นำแอลกอฮอล์ที่บริสุทธิ์ที่สุด มาหมักกับเครื่องเทศ สมุนไพรและผลจูนิเปอร์ เบอร์รี (Juniper berries หรือ Juniperus communis) แล้วนำไปกลั่นซ้ำเป็นครั้งที่ 2 – 3 จึงนับเป็นสุราที่มีสารพิษตกค้างน้อยที่สุด สันนิษฐานว่าเริ่มผลิตในยุคกลาง เดิมเป็นเหล้ายาสมุนไพร
กำเนิดของ Gin มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า ถูกค้นพบในฮอลแลนด์ในปี 1650 โดย ดร.ฟรานซิสกัส เดอ ลา บัว (Dr.Franciscus de La Boë ) ซึ่งรู้จักกันในนาม หมอซิลเวียส (Dr.Sylvius) แห่งมหาวิทยาลัย ลีย์เดน (The University of Leyden) ที่พยายามค้นหายารักษาความบกพร่องของไต ด้วยการผสมผสานแอลกอฮอล์จากธัญพืช เช่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรน์ และข้าวโพด กับ Juniper berries ดังกล่าว
นักดื่มดัตช์และเบลเยี่ยมรู้จักกันในนาม Jenever หรือ Genever ตามภาษาดัตช์ซึ่งหมายถึง “จูนิเปอร์” (Juniper) แต่โด่งดังจนเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดน่าจะเป็นในช่วงที่ทหารอังกฤษต่อสู้กับทหารสเปนที่เข้าไปยึดครองฮอลแลนด์ แล้วนำกลับมาอังกฤษโดยเรียกว่า Dutch Courage กระทั่งกลายเป็นเครื่องดื่มโปรดของผู้คน ในฝรั่งเศส และเรียกเหล้า Gin ว่า Genie’ve
ย้อนกลับในช่วงทศวรรษ 1720 ทั้งการผลิต และการขาย Gin ในอังกฤษเจริญรุ่งเรืองมาก บ้านเรือนกว่าครึ่งของกรุงลอนดอนถูกใช้เพื่อการผลิตและขาย Gin ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมที่รัฐบาลอังกฤษวิตกมาก กระทั่งวิลเลียม โฮการ์ธ (William Hogarth) นักเขียนการ์ตูนชื่อดัง ทนเห็นไม่ได้ จึงกับวาดภาพล้อเลียน ชื่อ Gin Lane เป็นถนนสายหนึ่งซึ่งมีทั้งคนขาย Gin และคนดื่มที่เมามายในลักษณะต่าง ๆ กัน พร้อมบทกวีหลายบท
ขณะที่รัฐบาลอังกฤษมองเห็นปัญหาที่จะตามมาจึงเริ่มเข้ามาควบคุม ด้วยการ การออกกฎหมาย Gin Act 1736 เพื่อเก็บภาษี Gin ให้แพงขึ้น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จึงออกกฎหมาย Gin Act 1751 ตามมาบังคับให้ผู้ผลิตขาย Gin ให้กับผู้ค้ารายย่อยที่มีใบอนุญาตเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ Gin เถื่อนและกิจกรรมที่ต่อเนื่องกันลดจำนวนลงไปเลย คนลอนดอนยังดื่มจินกันอย่างบ้าคลั่ง
ในช่วงศตวรรษที่ 18 การผลิต Gin ในอังกฤษเริ่มใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการกลั่นด้วยหม้อทองแดง (Pot stills) เหมือนการกลั่นวิสกี้ และบรั่นดี เป็นครั้งแรก ก่อนจะค้นพบการกลั่นแบบต่อเนื่อง (Column Still หรือ Continuous till,Patent still และ Coffey still) ในปี 1832 เป็นการจุดประกายให้การผลิต Gin ในสไตล์ “ลอนดอน ดราย” (London Dry Gin) ถูกพัฒนาขึ้นมาในปลายศตวรรษที่ 19 จนเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน
ปัจจุบันในอังกฤษมีการตั้งสมาคมจินและวอดก้า (Gin and Vodka Association of Great Britain หรือ GVA) ขึ้นมาเพื่อโปรโมทจินของอังกฤษ ซึ่งทุกวันนี้ชาวเมืองผู้ดีดื่มจินกันปีละกว่า 20 ล้านลิตร จากที่เคยเป็นเครื่องดื่มราคาถูกของชนชั้นกรรมากรเมื่อ 50 ปีก่อน
ส่วนในประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นอังกฤษบางประเทศ ผลิต Gin แบบขมนิด ๆ โดยเติมควินิน (Quinine) ซึ่งเป็นส่วนผสมของยาป้องกันมาเลเรียลงไปด้วย ซึ่งควินินนี้เป็นหนึ่งในส่วนผสมของน้ำโทนิก (Tonic Water) เคยใช้ในอินเดียและแอฟริกา ถ้าไปอินเดียอาจจะได้ยินคนอินเดียเรียกว่าอินเดียน โทนิก (Indian tonic water) เป็นเหตุผลหรือที่มาว่าทำไม Gin กับ Tonic จึงเข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ย แม้ว่าปัจจุบันควินินจะไม่ได้ใช้ต้านมาเลเรียมากเหมือนแต่ก่อนแล้วก็ตาม
Gin แบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
ลอนดอน ดราย จิน (London Dry Gin) : เป็น Gin สไตล์อังกฤษโดยเฉพาะ มีการเติมพืชพันธุ์ต่าง ๆ ในขณะที่กลั่นครั้งที่ 2-3 มีกลิ่นหอม นิยมในอังกฤษและชาติที่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ รวมทั้งสหรัฐและสเปน ใช้ผสม Martini เป็นหลัก
พรีเมาธ์ จิน (Plymouth Gin) : เป็น Gin ที่ฟูลบอดี้ เมื่อเทียบกับ London Dry Gin สีใส กลิ่นผลไม้อ่อน ๆ แต่โดยรวมหอมมาก ปัจจุบันผลิตโดยโรงกลั่นแห่งหนึ่งในเมืองพลีเมาธ์ ซึ่งถือลิขสิทธิ์คำว่า “Plymouth Gin” ด้วย
โอลด์ ทอม จิน (Old Tom Gin) : เคยเป็น Gin ที่ได้รับความนิยมมากในศตวรรษที่ 18 ได้ชื่อมาจากเครื่องขายเครื่องดื่มในผับเป็นแมวดำที่เรียกว่า Old Tom มีรสหวาน เนื่องจากส่วนใหญ่ใช้กากน้ำตาล เป็นวัตถุดิบ ใช้ผสมค็อกเทล ทอม คอลลิน (Tom Collins) โดยเฉพาะ
เจนีเวอร์ หรือ ฮอลแลนด์ (Genever or Hollands) : เป็น Gin สไตล์ดัตช์โดยเฉพาะ กลั่นจากธัญพืชคล้ายวิสกี้ แบ่งเป็น Oude (Old) Genever เป็นแบบดั้งเดิมหวานนิด และหอม และ Jonge (young) Genever ดรายและบอดี้เบา Genever บางยี่ห้อบ่ม 1-3 ปีในถังโอค และแอลกอฮอล์ต่ำกว่า Gin ของอังกฤษคือประมาณ 36-40 % ขายดีในฮอลแลนด์ เบลเยี่ยม และเยอรมนี
สำหรับเครื่องเทศและสมุนไพร่ที่นิยมใส่ลงไปใน Gin พร้อมสรรพคุณ มีดังนี้ : จูนีเปอร์ (Junuper) วัตถุดิบสำคัญที่สุด เป็นต้นไม้ที่มีผลเขียวรสเผ็ดและหอมหวาน นอกนั้นยังมี เปลือกส้ม (Orang Peel) ให้กลิ่นหอมและรสซ่า / อานีส (Anise) ให้กลิ่นหอมยั่วยวนใจ / ยี่หร่า (Caraway) เป็นยากระตุ้นพลังขับเลือดขับลม / หวายเทศ (Caramus) เป็นยาอายุวัฒนะ / ออร์ริส (Orris) ต้นลานที่มีรากหอม และเป็นยาแก้โรคสารพัดชนิด / โกฎน้ำเต้า (Rhubarv) เป็นยารักษาโรคสารพัดโรคอีกชนิดหนึ่ง / เมล็ดอัลมอนด์ (Almond) ให้กลิ่นหอมและสรรพคุณทางยา / คาลัมบา (Calamba) ต้นไม้รากขมที่ใช้เป็นยารักษาโรค
“เดอะ ลอนดอน นัมเบอร์ วัน” (The London No. 1) เป็นจินที่เปิดตัวล่าสุดที่ห้องอาหารสเปน UNOMAS โดยมีบอริส อีวาน (Boris Ivan) เป็นมิกโซโลจิสต์รับเชิญมาทำค็อกเทลต่าง ๆ จินคุณภาพระดับกลั่นในลอนดอน เจ้าของคือบริษัท Gonzalez Byass แห่งประเทศสเปน ซึ่งเป็นผู้ผลิตไวน์ตรีโอ เปเป (Tio Pepe) กลั่น 4 ครั้งจากฝีมือของ Master distiller ชื่อดัง ชาร์ล แม็กซ์เวลล์ (Charles Maxwell) เป็นหนึ่งในจินระดับ “อัลทระ-พรีเมียม” (Ultra-premium) ไม่กี่ยี่ห้อในโลกนี้ ตั้งใจผลิตให้มีความซับซ้อนตามแบบดั้งเดิม สอดแทรกด้วยความร่วมสมัย ขณะเดียวกันยังเป็นที่มีลักษณะเฉพาะคือสีฟ้า (Blue Gin) ที่ได้มาจากธรรมชาติ
The London No.1 เป็นจินที่ผสมผสานอย่างกลมกลืนและลงตัวของวัตถุดิบ 12 ชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจูนิเปอร์ (Juniper) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักมาจากภูเขาดัลมาเทีย (Dalmatia) ด้านตะวันตกของประเทศยูโกสลาเวีย นอกนั้นก็มี แบล็ค เคอร์แรนท์ (Black currants) จากฮ่องกง,อบเชย (Cinnamon) จากเกาะซีลอนหรือศรี ลังกา (Ceylon),เมล็ดผักชี(Coriander) จากโมร็อกโค,เลมอน(Lemons) เปลือกส้ม (Orange peels) และรากไอริส (Iris roots)จากอิตาลี ขณะที่มะกรูด (Bergamot)จากเมืองแบร์กาโม(Bergamo) ประเทศอิตาลีเช่นกัน,อัลมอนด์จากกรีซ,ชะเอมเทศตรุกี(Turkish liquorice),ต้นไม้ตกแต่งกลิ่น (Angelica)และรสชาติจากเทือกเขาแอลป์ในฝรั่งเศส ส่วนน้ำแร่มาจากซัฟฟอล์ค (Suffolk) และนอร์ฟอล์ค (Norfolk) ทางตอนเหนือของลอนดอน
สุดท้ายสีที่เป็นฟ้าคล้าย ๆ พลอยสีเขียวน้ำเงินอ่อน (Aquamarine) สกัดมาจากดอกการ์ดีเนีย (Gardenia) ซึ่งเป็นดอกไม้ที่ควีนส์ วิคตอเรีย (Queen Victoria) ทรงโปรดในช่วงปี 1800 เป็นสีจากธรรมชาติไม่ใช่สารเคมีให้สี
ที่มาที่ไปของชื่อ “The London No.1” ต้องย้อนกลับไปในปี 1771 เมื่อ Arthur Wellesley ดุ๊คที่ 1 แห่งเวลลิงตัน (1st Duke of Wellington) ได้สร้างคฤหาสสไตล์ลอนดอนที่บริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของสวนสาธารณะไฮด์ ปาร์ค (Hyde Park) กรุงลอนดอน และถูกเรียกว่า Apsley House ก่อนจะกลายมาเป็น “บ้านเลขที่ 1” ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเต็มไปด้วยความงดงาม ศิลปกรรม และวัฒนธรรม และกลายเป็นที่ภาคภูมิใจของจิน “The London No.1”
“The London No.1” สีฟ้าเป็นประกายสดใสแกมเขียวนิด ๆ เป็นที่มาของฉลากข้างขวด “No.1 Orginal Blue Gin” ดมครั้งแรกได้กลิ่นจูนิเปอร์ชัดเจน แสดงถึงการใช้จูนิเปอร์ เบอร์รี (Juniper berries) คุณภาพดี ตามด้วยกลิ่นคล้าย ๆ บัลซามิก (Balsamic) น้ำเนื้อมีความหนืดและดราย หวานนิด ๆ จบยาวด้วยความสมดุล แอลกอฮอล์ 47%
“The London No.1” ตั้งใจผลิตเพื่อให้ดื่มกับโทนิค (Tonic) หรือ G&T โดยเฉพาะ และควรเสิร์ฟในแก้วที่มีโพรงแก้วขนาดใหญ่ เหมือนแก้วไวน์เบอร์กันดี เพราะรูปทรงของแก้วแบบนี้จะทำให้ได้กลิ่นของจินอย่างชัดเจน เป็นสไตล์ที่คนสเปนชอบดื่มกัน !!!