“World Class 2017″ เทรนด์ใหม่ของโลกค็อกเทล

+44 (0)7721646833

ผู้เข้ารอบ 10 คน

+44 (0)7721646833

+44 (0)7721646833

+44 (0)7721646833

DSC_0049

DSC_0094

Jennifer Le Nechet ผู้ชนะปี 2016

+44 (0)7721646833

ค็อกเทลของ Kaitlyn Stewart

ค็อกเทลของรณภรที่น้อมนำพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ร.9 มานำเสนอ

บรรยากาศมวยปล้ำ การแข่งขันบาร์เทนเดอร์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก “ดีอาจีโอ เวิลด์ คลาส โกลบอล ไฟนอลส์ 2017″ (Diageo World Class Global Finals 2017) ที่กรุงเม็กซิโก ซิตี้ เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อบาร์เทนเดอร์สาวคว้าตำแหน่ง World Class Bartender of the Year เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
“แคทลีน สจ๊วร์ต” (Kaitlyn Stewart) คือเจ้าของตำแหน่ง World Class Bartender of the Year 2017 เธอเป็นบาร์เทนเดอร์ที่ร้านรอยัล ไดเนตต์ (Royal Dinette) ร้านอาหารดังในเมืองแวนคูเวอร์ (Vancouver) ประเทศแคนาดา เป็นผู้ชนะเลิศคนที่ 9 ของ Diageo World Class Global Finals และเป็นบาร์เทนเดอร์สาวคนที่ 2 ที่คว้ารางวัลนี้ ต่อจาก เจนนีเฟอร์ เลอ เนอเชต์ (Jennifer le Nechet) บาร์เทนเดอร์สาวจากปารีส เจ้าของรางวัลชนะเลิศDiageo World Class Global Finals 2016 ซึ่งเธอชอบมาดำน้ำที่เกาะเต่าของไทยมาก ชอบจนสักคำว่า “เกาะเต่า” ที่เหนือตาตุ่มเท้าซ้าย
ก่อนจะถึงวันนี้แคทลีน สจ๊วร์ต ต้องเอาชนะบาร์เทนเดอร์ทั้งชายและหญิงกว่า 10,000 คน คิดค้นค็อกเทลกว่า 60 แก้ว มีเรื่องเล่าว่าเธอทำค็อกเทลชื่อ Matriarch ให้กับคุณย่าดื่ม และค็อกเทลแก้วนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตเธอ เพราะนอกจากจะได้เป็นตัวแทนประเทศแคนาดาแล้ว เธอยังก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสุดยอดบาร์เทนเดอร์ของโลก
“One cocktail could change your life,so why not?’ I went with that.”
แคทลีน สจ๊วร์ต กล่าวหลังรู้ว่าเธอคือเจ้าของตำแหน่งชนะเลิศ “ดีอาจีโอ เวิลด์ คลาส โกลบอล ไฟนอลส์ 2017″ (Diageo World Class Global Finals 2017)
ในรอบ 10 คนสุดท้ายของ Diageo World Class Global Finals 2017 มีบาร์เทนเดอร์สาวเข้ารอบมา 3 คน หนึ่งในนั้นคือเจ้าภาพซึ่งได้รับเสียงเชียร์จากคนดูมากมาย แต่ผมชิมค็อกเทลที่เธอทำในบางโจทย์แล้วรู้ว่าแค่เข้ามาถึงรอบนี้ก็ดีถมไปแล้ว โดยในรอบ 10 คนจนถึงรอบสุดท้าย เขาจำลองบรรยากาศเป็นเวทีมวยปล้ำ ซึ่งเป็นกีฬายอดนิยมของชาวเม็กซิโก
ขณะที่บาร์เทนเดอร์ตัวแทนจากประเทศไทยคุณ “หนึ่ง” รณภร คณิวิชาภรณ์ แม้จะไม่ผ่านเข้ารอบ 10 คนสุดท้าย แต่ก็สามารถทำได้ดี ทั้งรสชาติของเครื่องดื่ม การตีโจทย์ และรูปแบบการนำเสนอที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว สร้างความประทับใจให้กับคนที่ได้ชมและชิม แต่สิ่งหนึ่งที่หลาย ๆ คนประทับใจคือนำ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริที่แท้จริงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9″ ไปนำเสนอจนคนที่ได้ดูให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะหลาย ๆ คนทราบถึงการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9 บางคนถามผมเรื่องพระราชกรณียกิจของพระองค์ ขณะที่ค็อกเทลที่ทำออกมาก็บาลานซ์ดีมาก
“ดีอาจีโอ เวิลด์ คลาส โกลบอล ไฟนอลส์ 2017″ (Diageo World Class Global Finals 2017) ครั้งนี้มีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้น 2-3 อย่างที่น่าจะบ่งบอกถึงแนวทางหรือเทรนด์ของค็อกเทลในอนาคตที่ไม่ไกลนี้
อย่างคือ “Cocktail @ Home” ลักษณะรูปแบบเป็นการทำค็อกเทลอยู่ที่บ้าน ด้วยการหยิบของที่อยู่ในครัวหรือในบ้าน อาจจะเป็นพืช ผัก สมุนไพร ฯลฯ มาทำค็อกเทลสำหรับผู้มาเยือนหรือปาร์ตี้ โดยใช้เหล้าตัวหลักเป็นวอดก้า ซึ่งเป็นเหล้าที่หาง่าย ราคาไม่แพง และทุกบ้านน่าจะมีติดอยู่ ที่สำคัญวอดก้าช่วยส่งเสริมกลิ่นและรสชาติของค็อกเทลได้โดดเด่นกว่าเหล้าอื่น ๆ
Cocktail @ Home นี้มีการให้สื่อมวลชนที่มาจากทั่วโลกทดลองทำ บลัดดี แมรี (Bloody Mary) ค็อกเทลที่ทำง่าย ๆ ส่วนผสมมีเพียงน้ำมะเขือเทศ น้ำแข็ง และวอดก้า ซึ่งใช้เคเทล วัน วอดก้า (Ketel One Vodka) โดยมีบาร์เทนเดอร์ชื่อดังของเม็กซิโกช่วยแนะนำ ผมเพิ่มวอดก้ามากกว่าปกติแล้วเติมเบียร์ลงไปด้วย บาร์เทนเดอร์ถามว่าทำไมใส่เบียร์ เพราะคนไทยชอบดื่มเบียร์และมีเบียร์ติดตู้เย็นเสมอ
อย่างที่สอง “Cocktail & Food” หรือค็อกเทลกับอาหาร เป็นแนวคิดที่ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง เป็นเรื่องที่บาร์เทนเดอร์ของเราจะต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ได้ ที่แน่ ๆ บาร์เทนเดอร์จะต้องเรียนรู้เรื่อง Food Science และต้องเข้าใจถึงศาสตร์แห่งรสชาติให้มากขึ้น ใครจะรู้ว่าบาร์เทนเดอร์ในอนาคต มือซ้ายควงตะหลิว มือขวาควงเชกเกอร์
เรื่องนี้ พรเศก ภาคสุวรรณ Reserve Channel Director : Diageo Moet Hennessy (Thailand) Ltd. ให้ความเห็นว่า “ผมว่าเทรนด์ของค็อกเทลในอนาคตน่าจะเกี่ยวกับอาหารมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำส่วนผสมหรือเครื่องปรุงของการทำอาหาร การปรุงอาหาร การใช้ความร้อนและเทคนิคในการดึงรสชาติ หรือแม้กระทั่งการนำเอาอาหารที่มีอยู่ในบ้านมาปรับใช้กับเครื่องดื่ม เพื่อให้เกิด Drink ใหม่ๆ ในอนาคตเราอาจเห็นบาร์ที่มีทั้งเครื่องทำน้ำแข็ง และเตาแก๊ส อยู่ข้าง ๆ กันก็ได้”
ขณะที่ เจนญ์ณรงค์ ภูมิจิตร Senior Brand Ambassador : Diageo Moet Hennessy (Thailand) Ltd.กล่าวหลังการแข่งขันว่า “สิ่งที่เราต้องเพิ่มเติมคือความรู้ที่เป็นเรื่องราวของ Food& Drink Science มากขึ้น เพราะเห็นจากโจทย์ในปีนี้แล้ว Gastronomy Technique เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ”
อย่างที่สาม Sustainability ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับวงการบาร์เทนเดอร์เมืองไทย แต่ระดับโลกให้ความสำคัญและเริ่มเดินหน้ากันแล้ว เจนญ์ณรงค์ ภูมิจิตร ซึ่งคลุกคลีอยู่กับแคมเปญ Diageo World Class ตั้งแต่แรกมองว่า “ถึงเวลาแล้วที่เราจะเริ่มในประเทศไทย อาจไม่ต้องเริ่มใหญ่ อาจลองเริ่มที่บาร์ของคุณเพียงแค่ลองไม่ใช้หลอดในการชิมเครื่องดื่ม แต่มาหาช้อนมาใช้ในการชิม เพื่อสามารถล้างแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือแม้กระทั่งการตรวจสอบขอบยางตู้เย็น หากเก่าหรือมีรอยรั่วก็ควรเปลี่ยน ไขก๊อกน้ำที่ปิดได้ไม่สนิท เรื่องเล็กน้อยแค่นี้มันก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งแล้ว”
สอดคล้องกับรณภร คณิวิชาภรณ์ มีความเห็นเหมือนกับเจนญ์ณรงค์ ภูมิจิตร เรื่องเทรนด์ของค็อกเทลที่จะมีการมองด้าน Sustainability มากขึ้น เขาคิดว่าเรื่องนี้น่าจะถูกขยายออกไปในวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ที่แต่ละคนแต่ละประเทศก็มีวิธีการหรือมุมมองที่แตกต่างกัน น่าจะทำให้เกิดความหลากหลายขึ้นไปอีก ซึ่งบาร์เทนเดอร์ในบ้านเราควรเร่งศึกษาหาความรู้กัน
รณภร คณิวิชาภรณ์ กล่าวหลังจากการแข่งขันปีนี้ว่า “การเตรียมตัวไม่เยอะเหมือนปี 2014 เพราะโจทย์น้อยกว่ากัน ส่วนผลลัพธ์ที่ออกมาถือว่าต่ำกว่าผมคาดไว้ แต่ความพึงพอใจส่วนตัวคิดว่าที่ทำได้สูงที่สุดตามมาตรฐานที่คิดไว้ และคิดว่าสูงที่สุดในความสามารถที่ตัวเองสะสมมา”
จากการที่เคยเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับโลก 2 ครั้ง คือปี 2014 และปี 2017 นี้ รณภร คณิวิชาภรณ์ มองว่าอุปสรรคหรือปัญหาของบาร์เทนเดอร์ไทยในเวทีโลกหลัก ๆ คือ “ภาษา” เมื่อเปรียบเทียบกับทักษะฝีมือของบาร์เทนเดอร์ไทยหลายคนเก่งกว่าต่างชาติ แต่เราเสียเปรียบด้านภาษา ถ้าสามารถทะลุกำแพงภาษาได้ เราจะไปได้ไกลกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการใช้วัตถุดิบพื้นบ้านมาใช้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่เมื่อไม่สามารถอธิบายให้กรรมการเข้าใจได้ดีพอเราก็เสียเปรียบ
ในฐานะที่เป็นกรรมการมาหลายครั้ง และเดินทางไปร่วมงาน Diageo World Class Global Finals หลายครั้ง เรื่องนี้ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง จากการที่พบว่าบาร์เทนเดอร์ที่ไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้จะขาดมั่นใจในเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกเล่นต่าง ๆ การใช้ล่ามไม่อาจถ่ายทอดจิตวิญญาณของบาร์เทนเดอร์ได้ ดังนั้นบาร์เทนเดอร์ไทยต้องให้ความสำคัญด้านภาษาให้มากขึ้น
“สิ่งที่ผมอยากแนะนำมากคือ พยายามหาความรู้ใส่ตัวเยอะ ๆ ไม่ใช่แค่อ่านหนังสือหรืออินเตอร์เนตเท่านั้น สิ่งที่ผมอยากแนะนำคือ อย่าอยู่กับตัวเอง ควรออกไปดูโลกภายนอก ยอมลงทุนกับประสบการณ์ ไปลอง ไปเรียนรู้รสชาติจากที่ต่าง ๆ บาร์ ร้านอาหาร และสถานที่อื่น ๆ ที่เราไม่ได้ทำงานด้วย ลงทุนกับอะไรแบบนี้ และสิ่งเหล่านี้จะเพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับตัวเราเอง ดีกว่าเอาเงินไปซื้ออุปกรณ์บาร์แฟนซีต่าง ๆ ที่สำคัญอย่าลืมความเป็นตัวของตัวเอง การเลียนแบบคนอื่นทำให้คุณเป็นได้แค่เพียงผู้ตาม”
สิ่งที่ “รณภร คณิวิชาภรณ์” ขอฝากไว้กับบาร์เทนเดอร์รุ่นหลัง ๆ อย่างน้อยคำพูดของ แคทลีน สจ๊วร์ต กล่าวหลังรู้ว่าเธอเป็นเจ้าของตำแหน่งชนะเลิศ “ดีอาจีโอ เวิลด์ คลาส โกลบอล ไฟนอลส์ 2017″ (Diageo World Class Global Finals 2017)
“I entered because I said,why not ? ”
ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งอาจจะถึงวันของบาร์เทนเดอร์ไทย…!!
*********
หมายเหตุ : “ดิอาจีโอ เวิลด์ คลาส”
“ดิอาจีโอ เวิลด์ คลาส” (Diageo World Class) เป็นแคมเปญระดับโลกที่สานต่อเป็นปีที่ 9 เริ่มครั้งแรกในปี 2009 เพื่อค้นหาสุดยอดบาร์เทนเดอร์ผู้เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ในการรังสรรค์เครื่องดื่มชั้นเลิศ ปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรมในโปรแกรมนี้กว่า 300,000 คนทั่วโลก ขณะที่ Diageo World Class Global Finals 2017 ที่เม็กซิโก ซิตี้ ประเทศเม็กซิโก เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีบาร์เทนเดอร์ 55 คนจากทั่วโลกร่วมการแข่งขัน
ในประเทศไทยสนับสนุนโดยบริษัท ดิอาจีโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี (ประเทศไทย) จำกัด (Diageo Moet Hennessy (Thailand) Ltd.) เข้าร่วมแคมเปญนี้ตั้งแต่ปี 2011 ในเบื้องต้นเพื่อมอบความรู้ และสร้างเสริมทักษะประสบการณ์ให้กับผู้เข้าแข่งขัน เป้าหมายสุดท้ายคือยกระดับวงการบาร์เทนเดอร์ไทยให้ก้าวเข้าสู่ความเป็นสากลอย่างเต็มตัว เพราะฝีมือของบาร์เทนเดอร์ไทยไม่เป็นรองชาติใดในโลก ฯลฯ ที่ผ่านมาก็มีบาร์เทนเดอร์ไทยไปแสดงฝีมือระดับโลกแล้วหลายคน
เจนญ์ณรงค์ ภูมิจิตร Senior Brand Ambassador : Diageo Moet Hennessy (Thailand) Ltd. ผู้ให้การอบรบและฝึกสอนบาร์เทนเดอร์ที่เข้าร่วมโครงการบอกว่า “แต่ละเดือนเราได้เห็นพัฒนาการของแต่ละคนอย่างเห็นได้ชัด ทั้งความคล่องแคล่วและทักษะที่เพิ่มพูนขึ้น นอกจากความรู้ที่เราถ่ายทอดให้แล้ว น้องๆ แต่ละคนยังมีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กัน เมื่อเห็นใครโชว์เทคนิคใหม่ๆ เขาก็กลับไปทดลองฝึกฝนเพิ่มเติมกัน เรียนรู้จากเพื่อน ซึ่งเป็นความสำเร็จของโครงการ ที่เรามุ่งหวังจะสร้างสังคมของบาร์เทนเดอร์ให้เกิดเป็นกลุ่มเป็นก้อนและพัฒนาไปอย่างมั่นคง”

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...