“บริวสกี” (Brewski) เป็นคราฟต์ เบียร์ บาร์ ที่สูงที่สุดในเมืองกรุง จากการที่ตั้งอยู่บนชั้น 30 ของโรงแรมเรดิสัน บลู กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในสถานที่ดื่มคราฟต์ เบียร์ที่กำลังได้รับความสนใจของคนรักเบียร์ นอกจากสามารถชื่นชมกับทิวทัศน์ของเมืองกรุงในยามค่ำคืนได้อย่างงดงามแล้ว ยังขายเบียร์ในราคาสุทธิ (Net) อีกด้วย
“บริวสกี” มีคราฟต์เบียร์สดจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 12 หัวหรือแทบ (Tab) บางตัวจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพื่อให้คนรักเบียร์ได้ลิ้มรสเบียร์ที่หลากหลายไม่ซ้ำกัน โดยจะเขียนไว้บนกระดานด้านหลังเคาน์เตอร์ว่ามีเบียร์อะไรบ้าง และราคาเท่าไร มีให้เลือก 3 ขนาดคือ 100 มิลลิลิตร (100 Ml) / ครึ่งไพน์ (Half Pint : 284 มิลลิตร) และไพน์ (Pint : 568 มิลลิลิตร) ถ้าอยากชิมหลาย ๆ ตัวก็สั่งแบบเซ็ตเลือกได้ 4 ตัวในแก้วขนาด 100 ml. รวมทั้ง Pint of the day ราคาพิเศษประจำวัน เป็นต้น ส่วนคราฟต์ เบียร์ แบบขวดมีให้เลือกกว่า 50 ฉลาก ซึ่งผู้บริหารตั้งเป้าไว้ว่าจะมีถึง 100 ฉลาก ขณะที่อาหารเป็นแบบง่าย ๆ สบาย ๆ สามารถกินกับเบียร์ได้หลากหลาย
อีกอย่างหนึ่งที่บริวสกีเปิดมิติใหม่คือการจับคู่เบียร์กับอาหารอย่างเป็นจริงเป็นจังเป็นประจำทุกเดือน ล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ไดเจัดงาน “Beer Dinner…Get it in the Can” จับคู่อาหารกับคราฟต์ เบียร์ที่เน้นเบียร์บรรจุกระป๋องเป็นหลัก เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าเบียร์กระป๋องไม่ได้เลวร้ายอย่างที่หลายคนคิด ถ้าเก็บรักษาอย่างถูกต้อง ลองดูว่าเบียร์และอาหารที่จับคู่กันในวันนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
ตัวแรก “สโตน โก ทู เซสชัน ไอพีเอ” (Stone go to Session IPA) ซึ่งเป็นเบียร์สไตล์ที่เรียกว่า “อินเดีย เพล เอล” หรือ “ไอพีเอ” (India Pale Ale = IPA ) ซึ่งเป็นเบียร์ที่เน้นฮอปส์ (Hops) ค่อนข้างสูงถึงสูงกว่า Pale Ale ธรรมดา ภาษาเบียร์เรียกว่า Hops Forward โดยใช้ฮอปส์ออสเตรเลียและแอลกอฮอล์ 4.8% จับคู่กับ Alaskan King Crab with Ponzu and Caviar เนื้อปูอลาสกาบรรจุในกระป๋องพร้อมซอสปอนสึ (ซอสที่มีรสชาติเปรี้ยวกลมกล่อม รสเปรี้ยวได้มาจากส่วนผสมของน้ำมะนาว และความหวานจากส่วนผสมของแอปเปิ้ล) และคาเวียร์ ถ้าดื่มเปล่า ๆ ฮอปส์จะเหนือกว่าอาหารพอสมควร แต่เมื่อเจออาหารปรากฏว่าฮอปส์ซอฟท์ลง กลายเป็นความกลมกล่อม ค่อนข้างลงตัว…!!!
ตัวที่ 2 “เอพพิค อิสเคพ ทู โคโลราโด ไอพีเอ” (Epic Escape to Colorado IPA) เป็นเบียร์สไตล์อเมริกัน ไอพีเอ (American IPA) แอลกอฮอล์ 6.2 % แม้จะมีฮอปส์นำหน้า แต่ชดเชยด้วยฟรุตตี้ที่หอมกรุ่น โดยเฉพาะแอปริคอต และซีททรัส ใบไม้เขียว ๆ ที่สำคัญเป็นไอพีเอแต่เวลาดื่มแล้วไม่เหมือนไอพีเอ จับคู่กับ Boquerones style marinated white anchovy with pickled capsicums radish ปลาไวท์ แอนโชวี (White Anchovies) เสิร์ฟมาในกระป๋องเหมือนปลากระป๋อง พร้อมพริกและหัวผักกาดดอง ฯลฯ ฮอปส์ทำให้ความเค็มของปลาแอนโชวีที่ปรกติจะเค็ม ๆ ซอฟต์ลง ขณะเดียวกันผักที่เสิร์ฟมาพร้อมกันช่วยเสริมรสชาติให้ลงตัว
ตัวที่ 3 “สโตน ริพเพอร์ เพล เอล” (Stone Ripper Pale Ale) เบียร์สไตล์เพล เอล (เอล : เบียร์สีเข้มเพราะถูกหมักในอุณหภูมิสูงรสชาติแรงกว่าลาเกอร์) ใช้ฮอปส์จาก 2 ชาติผสานกันคือซานติเอโก (สหรัฐ) และออสเตรเลีย ดูสีคล้าย ๆ ไอพีเอ แอลกอฮอล์ 5.7% บอดี้ปานกลาง มีกลิ่นควันไฟ หอมกลิ่นผิวส้มและผลไม้สุกโดยเฉพาะมะม่วงสุกค่อนข้างชัดเจนช่วยทำให้ฮอปส์ซึ่งฉ่ำ ๆ อยู่แล้วให้กลมกล่อมยิ่งขึ้น จับคู่กับ Hickory smoked Kurobuta pork ribs with chili and mango ซี่โครงหมูคุโรบูตะย่างด้วยฟืนที่ทำจากไม้ฮิกคอรีซึ่งเป็นไม้ตระกูลวอลนัท เสิร์ฟด้วยการวางมาบนกระป๋องเครื่องดื่มผ่าซีกและใส่ถ่านไม้ฮิกคอรีเพื่อให้ซี่โครงหมูร้อนตลอดเวลา แก้เลี่ยนด้วยอาจาดผลไม้ คู่นี้เข้ากันได้ดีมาก จนต้องขอเพิ่ม !!!
ตัวที่ 4 เป็นเมนคอร์ส “โรก เดด กาย เอล” (Rogue Dead Guy Ale) เบียร์สไตล์ Mailbock / Helles Bock ซึ่งเป็นบ็อกเบียร์ (Bock) ที่มีชื่อเสียงของเยอรมัน สีเหลืองทอง มีฮอปส์มากกว่า Bock ธรรมดา แต่มีคุณสมบัติอย่างอื่นเหมือนเดิม ยังมีกลิ่นของมอลต์ (Malty) และความหวาน ตัวนี้แอลกอฮอล์ 6.8% สีเหลืองทองเข้มคล้ายน้ำผึ้งเก่า ๆ และมีความหอมอบอวลมาก เช่น น้ำผึ้ง น้ำตาลอ้อย คาราเมล ดอกไม้ เฮิร์บสดเขียว ๆ และควันไฟ เป็นหนึ่งในเบียร์ที่มีความสมดุล (Balance) จับคู่กับ Australian Lamb,Chanterelles,Artichoke and Ale Gravy ซี่โครงแกะออสเตรเลียย่างแบบมิเดียมแรร์ เสิร์ฟพร้อมเห็ดชานแตเรลล์ และน้ำเกรวีที่ทำจากเบียร์ เอล คู่นี้ก็เข้ากันได้อย่างแนบเนียน ลองเอาเบียร์ 3 ตัวแรกมาจับคู่ด้วย ไม่สามารถสยบซี่โครงแกะอยู่
ตัวที่ 5 ปิดท้ายด้วยของหวานก่อนกลับบ้าน “เฟาเดอร์ส รือเบาส์ ราสพ์เบอร์รี” (Founders Rübæus Raspberry) เป็นเบียร์สไตล์ Fruit Beer ผลผลิตของบริษัท Founders Brewing Company แห่งรัฐมิชิแกน ทางภาคกลางของสหรัฐ ผลิตครั้งแรกในปี 2005 จากนั้นหยุดไป 2-3 ปี ก่อนจะมาผลิตอีกครั้ง ใช้ข้าวสาลีเป็นเบส (Wheat based) ขณะหมักก็เติมราสพ์เบอร์รีสดลงไปด้วยหลายครั้งเพื่อให้ได้ราสพ์เบอร์รีจริง ๆ ไม่ได้ตกแต่งกลิ่น แอลกอฮอล์ 5.7% สีแดงแกมชมพูคล้ายลูกเบอร์รี ดูตอนแรกคิดว่าจะหวานเลี่ยน ๆ แต่ผิดคาดเพราะกลิ่นหอมราสพ์เบอร์รี ซิททรัส หอมหวานคล้าย ๆ ขนมตาร์ต มีเลมอนมาตัดทำให้ไม่เลี่ยน เป็นเบียร์ที่เหมาะกับของหวาน จับคู่กับ Black Forest Gateau Ish เค้กแบล็ค ฟอเรสต์ ที่ตกแต่งด้วยราสพ์เบอร์รี ไอศกรีม ฯลฯ อย่างอื่นดีมาก ยกเว้นส่วนที่เป็นชอกโกแลตขม ๆ กลบแคแลกเตอร์ของเบียร์พอสมควร
“เบียร์กับอาหาร” ไม่ต่างอะไรกับ “ไวน์กับอาหาร” ในแง่ของการก้าวข้ามวัฒนธรรมของคนไทย เพราะที่ผ่านมาเรากินอาหารเป็น “กับแกล้ม” ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่ถ้าใส่ใจทำจนเป็นความเคยชิน จะพบเสน่ห์ที่ล้นเหลือ !!!