สก็อต วิสกี้ (Scotch Whisky) เป็นวิสกี้ที่มีชื่อเสียงขจรกระจายไปทั่วโลก จนกลายเป็นเครื่องดื่มประจำชาติของสก๊อตแลนด์ ไม่เพียงแต่มีสำคัญในด้านเศรษฐกิจต่อสก๊อตแลนด์เท่านั้น แต่ยังมีความหมายอย่างยิ่งยวด สำหรับประเทศสหราชอาณาจักรอีกด้วย
สก๊อต วิสกี้ต้องมีองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง ตั้งแต่ดินฟ้า อากาศ น้ำ บาร์เลย์ กระบวนการกลั่น ถังไม้ที่จะใช้ในการบ่ม และที่สำคัญคือมือกลั่นวิสกี้ ที่จะต้องผสมผสานระหว่างประสบการณ์ แทกติก หรือลูกเล่น ให้ลงตัวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่ชาวสก๊อตแลนด์ สั่งสมกันมาหลายร้อยปี ประกอบกับเป็นเสมือนดินแดนที่พระเจ้าประทานและประกาศิตสายตรงว่า เจ้าจงผลิตวิสกี้ให้ดีที่สุดในโลก ทำให้สก๊อต วิสกี้ยอดเยี่ยมเหนือกว่าชาติใดในโลก ที่สำคัญ “การที่จะเรียกว่าสก็อต วิสกี้ได้นั้น กระบวนการทุกขั้นตอนต้องกระทำในประเทศสก๊อตแลนด์เท่านั้น”
ในบรรดาวิสกี้ในโลกนี้ สามารถแบ่งได้ 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1.มอลต์ วิสกี้ (Malt Whisky) คือวิสกี้ที่มาจากมอลต์แท้ๆ ของข้าวบาร์เลย์ และสามารถแบ่งได้อีก เป็นมอลต์แท้ๆ จากโรงกลั่นเดียวเรียกว่า “ซิงเกิ้ล มอลต์” (Single Malt) หรือจากหลายโรงกลั่นผสมกันเรียกว่า “เบลนเดด มอลต์” (Blended Malt)
2.เกรน วิสกี้ (Grain Whisky) คือวิสกี้ที่ทำจากธัญพืชชนิดอื่น เช่น ข้าวสาลี ข้าวไรน์ หรือแม้แต่ข้าวโพด
3.เบลนเดด วิสกี้ (Blended Whisky) บางคนเรียกว่าวิสกี้ลูกผสม จาก Malt และ Grain
วิสกี้ ที่ทั่วโลกยกย่องว่ายอดเยี่ยมคือมอลต์ วิสกี้ (Malt Whisky)
มอลต์ วิสกี้ (Malt Whisky) แบ่งเป็น 2 ประเภทคือซิงเกิ้ล มอลต์ (Single Malt) ซึ่งจำง่าย ๆ คือต้องมาจากโรงกลั่นเดียว ที่สำคัญถ้าเป็น Single Malt Scotch Whisky ต้องทำจากมอลต์ของข้าวบาร์เลย์ (Barley) เท่านั้น ประเภทที่ 2 คือ “เบลนเดด มอลต์” (Blended Malt) เกิดจากการนำวิสกี้ที่มาจากมอลต์แท้ ๆ และกลั่นจากโรงกลั่นต่าง ๆ มาผสมกัน โดยการกำหนดอายุของวิสกี้ให้ดูจากถังที่อายุน้อยที่สุด และมีถ้อยคำที่ระบุในฉลากอย่างใดอย่างหนึ่งนอกจาก “เบลนเดด มอลต์” (Blended Malt) คือ แวตเต็ด มอลต์ (Vatted Malt) และเพียว มอลต์ (Pure malt)
เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัท เรมี คอนโทร ประเทศไทย ได้เปิดตัวซิงเกิ้ล มอลต์ สก๊อตวิสกี้ “บรูชลัดดิช” (Bruichladdich) แบรนด์วิสกี้จากสก๊อตแลนด์ที่มีจุดเด่นในเรื่องของการผลิตจากบาร์เลย์ ที่ปลูกในสก๊อตแลนด์ 100% โดยก่อตั้งโรงกลั่นในปี 1881 โดยพี่น้องตระกูลฮาร์วีย์ (Harvey brothers) ผลัดเปลี่ยนการครอบครองมาประมาณ 5-6 ครั้ง ท่ามกลางภาวะที่กระท่อนกระแท่นของกิจการ กระทั่งปี 2000 Murray McDavid เข้ามาซื้อกิจการด้วยมูลค่า 6.5 ล้านปอนด์ และเป็นผู้นำความรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ให้กับมาสู่โรงกลั่นอีกครั้ง ภายใต้การนำของพ่อค้าไวน์ Mark Reynier และ Jim McEwan ในฐานะ Master Distiller ยอดฝีมือที่เคยอยู่กับ Bowmore ถึง 37 ปี
เจ้าของคนใหม่นี้ใช้ลักษณะเฉพาะตัวของวิสกี้ ประกอบกับรูปแบบใหม่ของการบรรจุขวดและบรรจุภัณฑ์ ทำให้ Bruichladdich เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก จนเกิดไปเข้าตา Rémy Cointreau เข้ามาเป็นเจ้าของกิจการ ในปี 2012 ด้วยมูลค่า 58 ล้านปอนด์ และยังคงรักษาเครื่องไม้เครื่องมือตลอดจนอุปกรณ์การกลั่น ซึ่งบ้างอย่างมีมาตั้งแต่เริ่มเปิดโรงกลั่นในปี 1881 ไว้อย่างดีเยี่ยม
ที่สำคัญก็คือ Bruichladdich เป็นโรงกลั่นเดียวที่ใช้ข้าวบาร์เลย์จากฟาร์มเดียวหรือไร่เดียว (single farm) ทั้งหมดในการทำวิสกี้ ซึ่งปลูกและผ่านกระบวนการทำมอลต์ (Malted) ทางตะวันออเฉียงเหนือของสก๊อตแลนด์ ขณะที่โรงกลั่นอื่น ๆ ใช้บาร์เลย์จากหลาย ๆ ฟาร์มมาผสมผสานกัน บางแห่งใช้บาร์เลย์จากต่างประเทศ นอจากนั้นยังเป็นวิสกี้ธรรมชาติ ไม่กรองเย็น และไม่ตกแต่งสี
สำหรับ Bruichladdich ที่เปิดตัวมีดังนี้
บรูชลัดดิช เดอะ คลาสสิค แลดดี สกอตติช บาร์เลย์ วิสกี้ (Bruichladdich The Classic Laddie Scottish Barley Whisky) : ทำจากบาร์เลย์ที่ปลูกในสกอตแลนด์ 100 % และไม่ได้รมควัน ค่อย ๆ กลั่นที่ละหยด ๆ โดยน้ำที่ใช้เป็น spring water ของ Islay แล้วบ่มในถังอเมริกันโอค แอลกอฮอล์ 50 % เป็นรุ่นคลาสสิคที่ได้รับรางวัล Malt of the Month June 2015 เดิมชื่อรุ่น Laddie Ten ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น Classic Laddie ภายในขวดสีสดใส
ดมครั้งแรกได้กลิ่นทะเลเค็ม ๆ เลมอน วานิลลาครีม ขนมปังกรอบ ขิง ถั่ว สไปซี อบเชย เปปเปอร์ ขณะที่อยู่ในปากเลมอนยังลากยาวมาผสานกับทอฟฟี ซิททรัส ดอกไม้ ลูกเกด พีช บราวน์ชูการ์ มิเนอรัล น้ำผึ้งกรุ่น ๆ สาหร่ายทะเล และกลิ่นอายของลมทะเล จบยาวอ้อยอิ่งด้วยสไปซีกรุ่น ๆ มิเนอรัล และซิททรัส เป็น Everyday Islay whisky
บรูชลัดดิช อ๊อชดัมมอร์ อีดิชชั่น : 07.1 / 208 (Bruichladdich Octomore Edition 07.1 / 208) : มีการเปรียบเทียบว่าเป็นอีกหนึ่งรุ่นที่ Jim McEwan ในฐานะMaster distiller โชว์ความสามารถได้อย่างยอดเยี่ยม บ่ม 5 ปีในถังอเมริกันโอค และเป็นวิสกี้สไตล์ Super heavily peated whisky คือกลิ่นพีทค่อนข้างแรงและหนักแน่น ผสานกันควันไฟกรุ่น ๆ เพราะเป็นที่รมควันมากที่สุดจนได้น้ำหนัก 208 PPM ใครที่ชอบสไตล์นี้ไม่ผิดหวังแน่นอน แอลกอฮอล์ 59.5 % บรรจุขวดทรงสูง สีดำด้าน พร้อมคอขวดและตัวอักษร Octomore สีเงิน
ดมครั้งแรกได้กลิ่นคล้าย ๆ ฟางข้าวถูกเผา หญ้าแห้งชื้น ๆ ผลไม้เปรี้ยว ๆ คลอรีน บัลซามิก ยางสน สไปซี จันทน์เทศ ถ่านไม้ ยางพารา หนังสัตว์ ขณะที่อยู่ในปากมีความหวานเข้ามาช่วยให้เนียนจนแทบไม่รู้ว่าแอลกอฮอล์ 59.5 % บราวน์ชูการ์ มิเนอรัล ทอฟฟี่นม อบเชย กานพลู พริกแห้ง อัลมอนด์ แอปเปิ้ลอบสุก ๆ ขนมบ้าบิ่น ไลม์ ควันไฟ จบยาวด้วยควันไฟหอม ๆ คล้าย ๆ ย่างเนื้อ มิเมอรัล ผลไม้เขียว ๆ เป็นหนึ่งในวิสกี้ที่คอมเพล็กซ์ (Complex)
บรูชลัดดิช พอร์ต ชาร์ล็อต สกอททิช บาร์เลย์ เฮฟวีลีย์ พีทเทต ไอส์เลย์ ซิงเกิ้ล มอลต์ (Bruichladdich Port Charlotte Scottish Barley Heavily Peated Islay Single Malt) : รุ่นนี้รมควันพีทที่ระดับ 40 PPM บ่มในถังไม้ที่เคยบ่มเบอร์เบิร์น (Bourbon casks) และถังโอคที่เคยบ่มชาโต ดีเคม (Chateau d’Yquem) ไวน์หวานจากฝรั่งเศสที่ได้ชื่อว่าเป็นไวน์หวานที่แพงติดอันดับต้น ๆ ของโลก ทำให้ได้วิสกี้ที่มีความนุ่มนวลเนียนหอมหวาน แอลกอฮอล์ 50% เป็นรุ่นที่แสดงความเป็นตัวตนของวิสกี้แห่งเกาะไอส์ลา (Islay) ได้อย่างชัดเจน
ดมครั้งแรกได้กลิ่นสดชื่นและเขียว ๆ ของกิ่งไม้ สาหร่ายทะเล ผักสด ไอโอดีน วานิลลา ควันไฟอบอวล ผงฝุ่นของถ่านหิน แอปเปิ้ล แพร์ เปลือกมะละกอ และเมนธอลกรุ่น ๆ ขณะอยู่ในปากกลิ่นควันไฟก็ยังค่อนข้างแรง เปลือกมะนาวเหลืองแห้ง ๆ ใบไม้ ถ่านไม้ กรีนแอปเปิ้ล แพร์ บัตเตอร์ สไปซีแบล็คเปปเปอร์ค่อนข้างโดดเด่น หินชนวน มิเนอรัล และใบเฟิร์นเขียว ๆ จบยาวด้วยควันไฟคล้ายย่างเบคอน ผลไม้สุกหอมหวาน ใบไม้เขียว ๆ ถ่านไม้ และชอกโกแลต
“บรูชลัดดิช” ไม่ใช่เป็นเพียงสก๊อต วิสกี้ที่ทำจากบาร์เลย์ที่ปลูกในสก๊อตแลนด์ล้วน ๆ เท่านั้น แต่หมายถึงจิตวิญญาณแห่งสก๊อตแลนด์ทั้งมวล..!!