“บาโรเน ริคาโซลิ” ประวัติศาสตร์ในขวดไวน์

095

bet3

bet4

Brolio 2013

Brolio-2008

Castello di Brolio 2016

Chianti 2017

Francesco Ricasoli

Francesco Ricasoli1

Rocca Guicciarda 2015

Torricella Toscana 2017

ดินต่าง ๆ ของริคาโซลิ

ดินในไร่ของ-Barone-Ricasoli

ตำนาน

ทางเข้าอาณาจักร

บาโรเน เบตติโน ริคาโซลิ

ปราสาทโบรลิโอ

แปลงองุ่นรอบปราสาท

ไร่องุ่นที่มองจากปราสาท

หนึ่งในห้องบ่มของ-Barone-Ricasoli

ห้องบ่มไวน์ใต้ปราสาท Brolio“ริคาโซลิ” (Ricasoli) เป็นไวน์เคียนติ (Chianti) ที่เข้ามาเมืองไทยยุคแรก ๆ และยืนยงคงกระพันมาตราบเท่าทุกวันนี้น่าจะเกือบ ๆ 30 ปี มีชื่อเต็ม ๆ ว่า “บาโรเน ริคาโซลิ” (Barone Ricasoli) หรือ บารอน ริคาโซลิ (Baron Ricasoli) เป็นผู้ผลิตไวน์คุณภาพรายหนึ่งของอิตาลีและของโลก นิตยสาร Family Business ของสหรัฐบันทึกไว้ว่า เป็น “ไร่องุ่นที่เก่าแก่ที่สุดในอิตาลี” และเป็น “1 ใน 4 ไร่องุ่นที่เก่าแก่ที่สุดในโลก”
ผู้ให้กำเนิดไวน์ริคาโซลิคือ บาโรเน เบตติโน ริคาโซลิ (Barone Bettino Ricasoli / 1809 – 1880) เจ้าของฉายา “บารอนเหล็ก” (Iron Baron) จากการที่เป็นนักปกครองและนักการเมืองที่มีชื่อเสียง เคยเป็นนายกรัฐมนตรีของอิตาลี และเป็นเจ้าของปราสาทโบรลิโอ (Brolio) ซึ่งเป็นปราสาทงดงามแห่งหนึ่งของอิตาลี สร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 อยู่ที่มาดอนนา อา โบรลิโอ (Madonna a Brolio) ห่างจากจากหมู่บ้านกายโอเน (Gaiole) ในเคียนติประมาณ 5 กิโลเมตร ห่างจากเมืองซิเอนา (Siena) ประมาณ 25 กิโลเมตร และจากเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) เมืองหลวงของแคว้นทัสคานี (Tuscany) ประมาณ 75 กิโลเมตร
บาโรเน เบตติโน ริคาโซลิ (Barone Bettino Ricasoli) เป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนสร้างตำนานไวน์เคียนติ และพัฒนาจนไวน์เคียนติ (Chianti) โด่งดังมาจนถึงปัจจุบัน คำว่าเคียนติหรือคิอานติ (Chianti) ถูกเรียกขานกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ช่วงนั้นเกิดสงครามกลางเมือง กองทัพฝ่ายใต้ยกพลมารุกรานฝ่ายเหนือที่แคว้นทัสคานี ซึ่งตอนนั้นท่านบารอนเหล็กมีการปลูกองุ่นรอบปราสาทแล้วหลายแปลง
องุ่นที่ท่านบารอนเหล็กปลูกคือองุ่นแดงซานโจเวเซ (Sangiovese) และองุ่นเขียวมาลเวเซีย (Malvesia) เมื่อนำมาทำไวน์จะหมักองุ่นแยกทีละถังไม่ปะปนกัน แล้วนำมาขลุกขลิกกับน้ำองุ่นรสเข้มข้นหนักแน่น ซึ่งทำจากผลองุ่นเกือบแห้งที่ผ่านกระบวนการที่เรียกว่าโกเวอร์โน (Governo) แต่ท่านบารอนเหล็กยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ ตรงข้ามกลับเดินหน้าความลงตัวของไวน์เคียนติ ด้วยการเดินทางไปทั่วทุกหัวระแหงที่ได้ชื่อว่าผลิตไวน์คุณภาพดี ๆ เพื่อไปศึกษาหาวิชาความรู้ เครื่องไม้เครื่องมือ และเทคโนโลยี ฯลฯ กระทั่งปี 1872 สูตรสำเร็จของไวน์เคียนติจึงเกิดขึ้น
สูตรดังกล่าวคือซานโจเวเซ (Sangiovese) 70%,กานายโอโล เนโร (Canaiolo Nero)15%,มาลเวเซีย (Malvasia) 10% และองุ่นแดงพันธุ์อื่นอีก 5% ต่อมาในปี 1967 รัฐบาลได้กำหนดเป็นสูตรที่เรียกว่า “Ricasoli Formula” ใช้ Sangiovese เป็นหลัก มี Malvasia และเทรบไบอาโน ตอสกาโน (Trebbiano Toscano) ประมาณ 10-30% ก่อนจะอนุญาตให้ผสมกาแบร์เนต์ โซวีญยง (Cabernet Sauvignon) ได้ไม่เกิน 10 % หากเกินจะถูกปรับลงไปเป็นเทเบิ้ลไวน์ (Vino da Tavola)
นอกจากนั้น บาโรเน เบตติโน ริคาโซลิ ยังเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมผู้ผลิตไวน์แคว้นทัสคานีในปี 1835 อยู่ไม่นานก็ล้มเลิกไป แต่ก็เป็นการจุดประกายให้พ่อค้าไวน์ในเคียนติจัดตั้งสมาคมหรือคอนซอร์ซิโอ (Consorzio) ขึ้นมาในปี 1924 เรียกว่า “คอนซอร์ซิโอ วีโน เคียนติ คลาสสิโก (Consorzio Vino Chianti Classico) เพื่อสอดส่องดูแลควบคุมคุณภาพไวน์ในหมู่สมาชิกผู้ผลิตด้วยกัน พร้อมออกแสตมป์ตรา “ไก่ดำ” (Gallo Nero) ให้ติดที่คอขวดสำหรับไวน์คลาสสิโก (Classico) ต่อมามีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ สมาชิกจึงถอนตัวกันหลายราย เจ้าแรกก็คือริคาโซลินี่เอง
หลังจากปี 1993 เป็นต้นมากิจการไวน์ริคาโซลิอยู่ภายใต้การดูแลของฟรานเซสโก ริคาโซลิ (Francesco Ricasoli) บาโรเน (Barone) หรือบารอนคนที่ 32 ของปราสาทโบรลิโอ ปัจจุบันเป็นไร่องุ่นที่ใหญ่ที่สุดในเคียนติ คลาสสิโก (Chianti Classico) มีพื้นที่ปลูกองุ่น 240 เอเคอร์ (1 เอเคอร์ = 2.529 ไร่) ไม่รวมพื้นที่อื่น ๆ ผลผลิตปีละประมาณ 3 ล้านขวดมีทั้งไวน์หลายรุ่น หลายชนิด รวมทั้งกราปปา (Grappa) และน้ำมันมะกอก โดยไวน์ส่วนหนึ่งที่ผมได้ชิมเมื่อเร็ว ๆ นี้คือ
บาโรเน ริคาโซลิ ตอร์ริเซลลา ทอสกานา ไอจีที 2017 (Barone Ricasoli Torricella Toscana IGT 2017) : ทำจากชาร์โดเนย์ (Chardonnay) 80 % กับโซวีญยง บลัง (Sauvignon Blanc) 20 % จากไร่ในซิเอนา (Siena) 50 % บ่มในถังโอค อีก 50 % บ่ม 6 เดือนในถังสแตนเลส บ่มต่อในขวดอีก 3 เดือน….สีเหลืองทองอ่อนสดใส มีกลิ่นหอมดอกไม้ พีช แอปริคอต เลมอน แอปเปิ้ล ซีทรัส ครีมมี แอซสิดดีมากดื่มแล้วสดชื่น จบค่อนข้างยาวด้วยพีช วานิลลาและน้ำผึ้ง
บาโรเน ริคาโซลิ เคียนติ ดีโอซีจี 2017 (Barone Ricasoli Chianti DOCG 2017) : ทำจากซานโจเวเซเป็นหลัก มีพันธุ์อื่นผสมเล็กน้อย โดย 90 % บ่มในถังสแตนเลส อีก 10 % บ่มในถังโอค…สีแดงสดใส หอมกลิ่นผลไม้สุก เช่น แบล็คเบอร์รี เชอร์รี และราสพ์เบอร์รี ดอกไวโอเลต ยาสูบ สไปซีเฮิร์บแห้ง ๆ โอคหอมหวาน แทนนินปานกลาง แอซสิดค่อนข้างสูง จบปานกลางด้วยผลไม้สุก และสไปซี ดื่มตอนนี้ แต่อีกสัก 2-3 ปีจะอร่อยกว่านี้
บาโรเน ริคาโซลิ โบรลิโอ เคียนติ คลาสสิโก ดีโอซีจี 2013 (Barone Ricasoli Brolio Chianti Classico DOCG 2013) : ทำจากซานโจเวเซ 80%,แมร์โลต์ 15% และกาแบร์เนต์ โซวีญยง 5% บ่มในถังโอคขนาดเล็ก 9 เดือน ชื่อรุ่นมาจากชื่อของปราสาท Brolio นั่นเอง…สีแดงขอบบราวน์นิด ๆ หอมกลิ่นผลไม้สุกอบอวล เช่นแบล็คเคอแรนท์ มัลเบอร์รี พรุน และเบอร์รี ยาสูบ พริกไทย อบเชย มิเนอรัล แนนนินนุ่มเนียน จบยาวด้วยผลไม้สุก มิเนอรัล และเฮิร์บชุ่ม ๆ คอกำลังดื่มอร่อย
บาโรเน ริคาโซลิ คาสเตลโล ดิ โบรลิโอ เคียนติ คลาสสิโก รีแซร์วา ดีโอซีจี 2016 (Barone Ricasoli Castello di Brolio Chianti Classico Reserva DOCG 2016) : ทำจากซานโจเวเซ 80%,แมร์โลต์ 15% และกาแบร์เนต์ โซวีญยง 5%หมักพร้อมเปลือก ประมาณครึ่งเดือน บ่มในถังโอคเล็กและโอคใหญ่ 18 เดือน…สีแดงเข้มสดใส หอมกลิ่นผลไม้สุก เช่น เชอร์รี แบล็คเบอร์รี มัลเบอร์รี และราสพ์เบอร์รี พร้อมด้วย ยาสูบ วานิลลา ชอกโกแลต สไปซี เฮิร์บ มิเนอรัล แทนนินปานกลาง แอซสิดยังค่อนข้างสูงแต่ดื่มแล้วสดชื่น จบยาวด้วยผลไม้สุก มิเนอรัล และสไปซีเฮิร์บ ยังไม่เปิดตัวเต็มที่นัก อีกสัก 3-4 ปีน่าจะอร่อยกว่านี้
บาโรเน ริคาโซลิ ร็อกกา กุยซิอาร์ดา เคียนติ คลาสสิโก รีแซร์วา 2015 (Barone Ricasoli Rocca Guicciarda Chianti Classico Reserva 2015) : Rocca Guicciarda เป็นชื่อไร่องุ่นของริคาโซลิ ทำจากซานโจเวเซเป็นหลัก มีพันธุ์อื่นมาเบลนด์ด้วยอีกเล็กน้อย บ่ม 16 เดือนในถังโอคขนาดเล็ก …สีแดงเข้มสดใส หอมกลิ่นดอกไม้ และผลไม้ เช่น แบล็คเชอร์รี ราสพ์เบอร์รี และเบอร์รี มิเนอรัล กาแฟคั่ว ยาสูบ ฮาเซลนัท สไปซี เฮิร์บแห้ง ๆ อบเชย โป๊ยกั๊ก แทนนินยังหนักแน่น แอสซิดยังค่อนข้างสูง จบยาวด้วยผลไม้สุก มิเนอรัล และเฮิร์บ
“ดื่มริคาโซลิ เหมือนดื่มด่ำกับประวัติศาสตร์อิตาลีและของโลก” ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ว่าไว้อย่างนั้น.

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...