“อารยธรรม…เริ่มต้นจากการต้มกรอง”
“วิลเลียม ฟอล์คเนอร์” (William Faulkner : 25 กันยายน1897 – 6 กรกฎาคม 1962) นักเขียนนวนิยายและเรื่องสั้นคนสำคัญชาวอเมริกัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1949 กล่าวไว้เช่นนั้น
“การต้มกรอง”…ดังกล่าว โดยนัยจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก “เบียร์” (Beer)
อากาศร้อน ๆ แตะ 40 องศาแบบนี้ นักบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลายบอกว่า ไม่มีอะไรจะชุ่มฉ่ำหัวใจเท่ากับ…เบียร์เย็น ๆ
“เบียร์” เป็นทั้ง “วัฒนธรรมอารยธรรม” เป็นเครื่องดื่มที่อยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ากี่ปี ส่วนใหญ่คาดกันว่าอยู่ในราว 9,500 ปี ขณะที่นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า การต้มเบียร์เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์รู้จักขัดเกลาเครื่องมือหิน ประมาณในยุค Neolithic เนื่องจากยุคนั้นมนุษย์รู้จักเก็บเกี่ยวธัญญาหารไว้บริโภคในระยะยาว รู้จักทำครัว รู้วิธีต้มข้าวเปลือกแล้วปล่อยให้หมักในน้ำ จึงค้นพบกรรมวิธีผลิตเครื่องดื่มที่แก้กระหาย เก็บไว้ได้นาน และรสชาติอร่อย เรียกว่า “ชิคารุ” หรือ “ขนมปังเหลว” ซึ่งชาวสุเมเรีย แห่งลุ่มน้ำไทกริส-ยูเฟรติส บอกว่าเป็น..เครื่องดื่มจากสรวงสวรรค์
ขณะที่บางตำราบอกว่า การหมักเบียร์ในช่วงดังกล่าวชาวสุเมเรีย ใช้วิธีทำให้ข้าวสาลีแห้งเป็นผง จากนั้นนำไปอบเป็นขนมปัง แล้วจึงบดขนมปัง เติมน้ำ และหมักตามธรรมชาติ ทั้งนี้จากการค้นพบหลักฐานเป็นภาพการทำเบียร์จารึกอยู่บนอักษรคูนิฟอร์ม
ทางฝั่งอียิปต์ระบุว่าเมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล มีการทำเบียร์จากข้าวโดยนำเมล็ดข้าวที่เก็บเกี่ยวได้จากริมฝั่งแม่น้ำไนล์มาอบแห้ง แล้วบดให้ละเอียดใส่ในถังผสมกับดอกฮอปส์ (Hops) ที่ช่วยให้เบียร์มีรสขม และเก็บได้นานขึ้น จากนั้นเติมน้ำลงไปผสมหมักกับยีสต์เกิดแอลกอฮอล์และมีตะกอน แล้ว “กรอง” เอาแต่น้ำมาดื่ม
อียิปต์ยุครุ่งเรืองนั้นเบียร์เป็นเครื่องดื่มประจำชาติ ใช้ดื่มคู่กับอาหารทุกวัน นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเบียร์มีส่วนสำคัญในการก่อตัวของอารยธรรม เช่นราว 4,500 ปีก่อนคริสตกาล คนงานในเมืองอูรุกได้รับเบียร์เป็นค่าจ้าง และในการก่อสร้างมหาปิรามิดในกิซา คนงานได้รับปันส่วนเป็นเบียร์วัละ 4-5 ลิตร ซึ่งชาวอียิปต์เชื่อว่ามีส่วนช่วยทั้งเรื่องโภชนาการและทำให้สดชื่น มีเรื่ยวแรงในการทำงาน
ในยุคกลางการต้มเบียร์มักทำกันตามวัดหรือโบสถ์ในท้องถิ่น ที่สำคัญศาสตร์และศิลป์ของการปรุงเบียร์ถือเป็นความลับสุดยอด ไม่มีการถ่ายทอดให้กับใครง่าย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนนอกตระกูล สมัยก่อนในแคว้นบาวาเรีย แหล่งผลิตไวน์ที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี ใครจะหัดต้มเบียร์ต้องผ่านการฝึกงานก่อนอย่างน้อย ๆ 3 ปี
ที่เยอรมนีนี่เองประวัติศาสตร์เบียร์ยุคใหม่ได้เริ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 15 เพราะชาวเยอรมนีเป็นผู้คิดค้นทำเบียร์ขึ้นในแคว้นบาวาเรีย เชื่อว่าเบียร์มีความบริสุทธิ์สะอาดกว่าน้ำเปล่าจึงดื่มเบียร์กันแทนน้ำ และเบียร์ของพวกเขาทำจาก มอลต์ เรียกว่า Peor หรือ Bior ที่เพี้ยนมาเป็นคำว่า Beer
ปี 1516 เยอรมนีมีการตรากฎหมายเรื่อง “ความบริสุทธิ์ของเบียร์” ใจความสำคัญว่า “ห้ามใช้สิ่งอื่นใดนอกจากส่วนผสม 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวบาร์เลย์ ฮอปส์ และน้ำ” ซึ่งว่ากันว่าเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการกำหนดลักษณะของเบียร์ จนเป็นมาตรฐานในเวลาต่อมา
ประเทศไทยเริ่มมีการผลิตเบียร์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) ได้ยื่นเรื่องขอจัดตั้งบริษัทผลิตเบียร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2473 หลังจากเดินทางไปศึกษาเรื่องเบียร์ที่เวียดนาม และเยอรมนี ส่วนตัวโรงงานถูกสร้างขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2476 ในย่านบางกระบือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้ชื่อบริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด และผลิตเบียร์ออกจำหน่ายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2477 ภายใต้ยี่ห้อ ตราหมี ตราสิงห์แดง ตราสิงห์ขาว ตราแหม่ม ตราพระปรางค์ทอง ตราว่าวปักเป้า ตรากุญแจ ตรารถไฟ และที่ยังคงอยู่จนปัจจุบันคือ ตราสิงห์
ในปี พ.ศ. 2504 โรงเบียร์แห่งที่ 2 จึงเกิดขึ้นคือ บริษัท บางกอกเบียร์ ผลิตเบียร์ตราหนุมาน ตราแผนที่ และตรากระทิง แต่ไม่ได้รับความนิยมจากผู้ดื่มจึงเลิกกิจการไป กระทั่งปี พ.ศ. 2509 จึงเปลี่ยนเจ้าของพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ผลิตเบียร์อมฤตเป็นหลัก ในปีพ.ศ. 2521 ได้ซื้อลิขสิทธิ์เบียร์คลอสเตอร์ มาผลิต
เบียร์คลอสเตอร์ โด่งดังที่สุดและคนที่วัยเลข 5-6 นำหน้า น่าจะเคยใช้บริการมาแล้วคือ “คลอสเตอร์ เบียร์ การ์เดนส์” จัดทุก ๆ หน้าหนาว ราวเดือนพฤศจิกายน บริเวณที่จอดรถของศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ ซึ่งปัจจุบันคือสยามดิส คัพเวอร์รี
หลังจากนั้นรัฐบาลก็ไม่ได้อนุญาตให้มีการตั้งโรงงานอีก เพราะเห็นว่าเบียร์เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และตั้งกำแพงภาษีเพื่อให้ความคุ้มครองกับผู้ผลิตในประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ภาครัฐมีนโยบายเปิดเสรีทางการค้า โดยการเปลี่ยนเงื่อนไขของผู้ผลิตเบียร์ จากที่กำหนดให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องเป็นมีสัญชาติไทย เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย เพื่อจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ทำให้ปัจจุบันมีกลุ่มบริษัทผู้ผลิตเบียร์ในประเทศไทยประมาณ 6-7 กลุ่ม ผลิตเบียร์ออกมาหลากหลายยี่ห้อ ทั้งตลาดล่าง ตลาดกลาง และตลาดบน
อย่างไรก็ตามในช่วง 9-10 ปีที่ผ่านมา ตลาดเบียร์ระดับบนกลับพุ่งเป้าไปที่เบียร์นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะผู้บริโภคเริ่มรับข่าวสารรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังทรัพย์ ขณะที่ผู้หญิงรุ่นใหม่ดื่มเบียร์กันมากขึ้น สาเหตุหลัก ๆ คือรสชาติดี แอลกอฮอล์ไม่สูง สามารถดื่มกับอาหารได้ดี และดูดีกว่าดื่มโลคัล แบรนด์ เป็นต้น
เบียร์นำเข้าจากต่างประเทศ จากเดิมที่มีเพียงเยอรมนีเป็นหลัก ซึ่งครองตลาดมาเป็นสิบ ๆ ปี ก็มีให้เลือกมากมาย เช่น เบลเยี่ยม ฮอลแลนด์ อังกฤษ ไอร์แลนด์ สาธารณรัฐเชก สเปน สหรัฐ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย แม้แต่บางชาติที่ไม่เคยมีในตลาดบ้านเรา เช่น รัสเซีย ตุรกี จีน ไต้หวัน ศรีลังกา รวมทั้งชาติเพื่อนบ้านอย่าง ลาว พม่า เขมร เป็นต้น ทุกวันนี้เหลือไม่กี่ชาติ อันเนื่องจากการขึ้นภาษี
ขณะเดียวกันในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา “คราฟต์เบียร์” (Craft Beer) ก็พุ่งขึ้นมาแทนและทำท่าว่าจะเติบโต แต่ก็ต้องถูกสกัดกั้นด้วยข้อกฎหมาย จึงต้องมีการเลี่ยงด้วยการไปผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งยุโรป และออสเตรเลีย แล้วส่งกลับมาขายในประเทศไทยทำให้ราคาค่อนข้างสูง ปัจจุบันเบียร์พวกนี้ก็ยังอยู่ในตลาดหลากหลายแบรนด์
จากการวิจัยของมหาวิทยาลัย Emory กล่าวว่าผู้หญิงและผู้ชายสูงอายุ 2,200 คน ที่ดื่มเบียร์วันละ 1.5 แก้วต่อวัน จะมีการเสี่ยงต่อโรคหัวใจล้มเหลวลดลง 50 %ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ในบอสตัน พบว่าเบียร์ยังดีต่อสมอง โดยผู้ที่ดื่มเบียร์ตั้งแต่หนึ่งถึง 6 แก้วต่อสัปดาห์ จนถึงผู้ที่ดื่ม 7-14 แก้วต่อสัปดาห์ จะเกิดอาการชักได้น้อยกว่าผู้ที่ไม่ดื่มเลย แต่ถ้าผู้ที่ดื่มเกินกว่านี้ก็จะมีอาการชักได้มากที่สุด เพราะเบียร์ช่วยลดขนาดเม็ดเลือดและไม่ทำให้เลือดไปครั่งที่สมองได้ นอกจากนี้เบียร์ยังช่วยในการลดความเครียด ลดความกังวล และความประหม่าได้ รวมทั้งยังทำให้อารมณ์ดี แถมยังมีสารอาหารอย่าง โปรตีน วิตามิน B ฟอสฟอรัส แมคเนเซียม เซเลเนี่ยม และธาตุเหล็ก
นักวิจัยจากอังกฤษและสาธารณรัฐเชกเกิดนึกสงสัยในว่า “ดื่มเบียร์แล้วอ้วน” จริงหรือ จึงได้ทำการสำรวจชาวเชกเกือบ 2,000 คน ในฐานะนักดื่มเบียร์ตัวยง พบว่า การมีพุงกับการดื่มเบียร์ปริมาณมาก ๆ ไม่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้นการบอกว่าคนเราจะอ้วนเพราะดื่มเบียร์จึงเป็นการไม่ถูกต้อง
ขณะที่ ดร.มาร์ติน โบบัค แห่ง University College London และคณะวิจัยจาก Institute of Clinical and Experimental Medicine ในกรุงปราก ได้ให้หญิง 1,098 คน และชาย 891 คน ที่มีอายุระหว่าง 25 ถึง 64 ปี ทำแบบสอบถาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา โดยไม่มีการกล่าวถึงเครื่องดื่มอื่น พบว่าชายชาวเชกดื่มเบียร์โดยเฉลี่ย 3.1 ลิตรต่อสัปดาห์ ผู้หญิง 0.3 ลิตรต่อสัปดาห์ ในจำนวนนี้มีชาย 3 คนที่ดื่มอย่างหนักราว 14 ลิตรต่อสัปดาห์ และหญิง 5 คนดื่มถึง 7 ลิตรต่อสัปดาห์ โดยก่อนและหลังการดื่มเบียร์ คณะวิจัยจะให้แพทย์วัดขนาดของเอว และสะโพก ชั่งน้ำหนัก และบันทึกดัชนีมวลรวมของอาสาสมัครไว้ตรวจสอบด้วย พบว่าการมีพุงไม่เกี่ยวข้องกับการดื่มเบียร์เลย การกล่าวอ้างว่าคนอ้วนหรือมีพุงเพราะการดื่มเบียร์มากเกินไปจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก
ไนเจล เดนบี แห่งสมาคมโภชนาการแห่งอังกฤษเคยกล่าวไว้ว่า ผู้ที่อ่านรายงานวิจัยดังกล่าว ไม่ควรโร่เข้าผับเข้าบาร์ เพราะไม่ว่าจะรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มชนิดใดก็ตามที่มีแอลกอฮอล์ก็สามารถอ้วนได้หากรับประทานมากเกินไป แต่ถ้าหากต้องการดื่มจริง ๆ ก็ควร…ดื่มแต่พอดี !!
ไม่ว่าอะไรก็ตามท้ายที่สุดความสำคัญคือ…ดื่มแต่พอดี !!