“ไวน์จีน” วันนี้ที่ไม่ธรรมดา

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ไหไวน์ข้าวที่ถูกค้นพบอายุกว่า 200 ปี

Ao Yun 2016

Ao Yun วินเทจแรก

Chateau Changyu

Dynasty

Grace Vineyard

Great Wall

Long dai

กาแบร์เนต์ โซวีญยง ของ Silver Heights Winery

การเก็บองุ่นทำไวน์สมัยราชวงหมิง

เก็บองุ่นด้วยแรงคน

เก็บองุ่นที่ไร่ Ao Yun

จอกเหล้าสำริด

ตระกูลร็อธไชลด์แห่งฝรั่งเศสก็มาลงทุน

ตอร์เรสจากสเปนไปลงทุนในจีน

ผลิตโดยตระกูลร็อธไชลด์ แห่งฝรั่งเศส

ไร่องุ่นของ Ao Yun

ไร่องุ่นใน Shaanxi

ไร่องุ่นริมแม่น้ำเหลือง

ไวน์ Changyu

ไวน์ข้าวยุคดั้งเดิม

ไวน์ที่ทำโดย Baron Eric de Rothschild

เหมาไถ ไวน์ข้าวชื่อดัง

แหล่งผลิตไวน์ในจีน LVMH (Louis Vuitton Moët Hennessy)จักรวาลแห่งสินค้าแบรนด์เนมรายใหญ่สุด ได้เปิดตัวไวน์ “อาวหยุน” (Ao Yun) ที่เข้าไปลงทุนในประเทศจีนในราคาลังละ 2,340 ปอนด์สเตอร์ลิงสร้างความฮือฮาให้กับคนรักไวน์ในลอนดอน เป็นวินเทจ 2016 ทำจากกาแบร์เนต์ โซวีญยง (Cabernet Sauvignon) 74% และกาแบร์เนต์ ฟรองซ์ (Cabernet Franc) 20% ที่เหลือเป็นพันธุ์อื่น ๆ
Ao Yun นั้นได้ชื่อว่าเป็นไวน์พรีเมียมของจีนตัวแรกที่กกลุ่ม LVMH เขาไปลงทุนในจีน ไร่องุ่นความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,000 – 2,600 เมตร อยู่ที่ยูนนาน ใกล้พรมแดนลาวและเมียนมาร์ โดยวินเทจ 2016 นี้เป็นวินเทจที่ 4 ที่มีการผลิตออกมา
จีน (China) เป็นประเทศที่น่าจับตามองมากที่สุดในเอเชีย ทั้งด้านการผลิตไวน์และการบริโภคไวน์ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีประชากรมหาศาล พื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล โดยเฉพาะการผลิตไวน์มีคำนายจากผู้เชี่ยวชาญหลายหน่วยงานว่า ภายในเวลาห้าทศวรรษนี้ จีนจะก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตไวน์ระดับแนวหน้าของโลก
จีนไม่ใช่ผู้ผลิตไวน์หน้าใหม่ เพราะจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า องุ่นถูกนำมาสู่จีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น (121 – 136 ก่อนคริสต์ศักราช) โดยนายพล Chang Chien นำเมล็ดองุ่นมาจากอุซเบกิสถาน และปลูกที่ซินเกียง (Xingjian) และชานซี (Shaanxi) ขณะที่การผลิตไวน์ตามแบบตะวันตก ถูกทำในช่วงศตวรรษที่ 7 ก่อนพุทธศักราช พร้อมกับมีหลักฐานว่ามีการสั่งองุ่นจากทัชเคนต์ (Tashkent) เพื่อมาทำไวน์ด้วย
ปี 1892 Zhang Bi Shi ก่อตั้งฉาง หยู ไวเนอะรี (Chang Yu Winery) ใกล้ Yantai เขาปลูกองุ่น Welschriesling ที่นำมาจากออสเตรีย และจ้างไวน์เมกเกอร์ชาวออสเตรียมาช่วยดูและการทำไวน์ ปัจจุบันผลิตลิเคียวร์ เวอร์มุธมากกว่าไวน์
อย่างไรก็ตามผู้บุกเบิกการทำไวน์ยุคใหม่ คือไมเคิล พาร์รี (Michael Parry) นักลงทุนชาวอังกฤษที่มาทำงานในฮ่องกง ด้วยการก่อตั้งหัวตง ไวเนอะรี (Huadong Winery) ในซิงเต้า (Quingdao หรือ Tsingtao) เมื่อปี 1985 ปลูกองุ่น 42,000 ต้น ปี 1986 จึงผลิตชาร์โดเนย์และรีสลิ่ง โดยไวน์เมกเกอร์จากแคลิฟอร์เนียและออสเตรเลีย ต่อมาประสบปัญหาหลายประการ กิจการจึงตกไปอยู่กับบริษัท อัลไลด์ – โดเมค (Allied-Domecq)
หลังจากนั้นจึงเกิดไวเนอะรีตามมาอีกหลายแห่ง เช่น Quingdao (Tsingtao) ยักษ์ใหญ่เบียร์ชิงเต้า ร่วมกับนักธุรกิจเยอรมันตั้ง Melco Winery ทำไวน์ขาวสีเหลืองเข้ม หอมดอกไม้ และออยลี (Oily) ขณะที่นักลงทุนฝรั่งเศสทำไวเนอะรี่ชื่อฉาง ยี่ (Shang Yi) ใกล้ ๆ กรุงปักกิ่ง เป็นต้น
ปี 1995 มีการร่วมมือกันระหว่างต่างชาติเป็นครั้งแรกของนักโบราณคดีจีนกับสหรัฐ Sino-USA สถาบัน Archeology Research Institute ของ Shandong นำโดยศาสตราจารย์ Fang Hui สำรวจพื้นที่ห่างจาก Rizhao ไปประมาณ 30 กิโลเมตร แล้วพบหลักฐานเครื่องแอลกอฮอล์ รวมทั้งไวน์องุ่น ไวน์ข้าว ไวน์น้ำผึ้ง เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบไหเซรามิกบรรจุไวน์กว่า 200 ใบและเมล็ดองุ่น ทำให้รู้ว่าไวน์เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีนมายาวนาน ไม่แพ้เครื่องแอลกอฮอล์อย่างอื่น
ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 หลังการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ รัฐบาลเปิดโอกาสให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในจีน ถือเป็นยุคใหม่ของอุตสาหกรรมไวน์จีน ตรงกับช่วงเวลาสุดท้ายของราชวงศ์ชิง (Qin Dynasty) หลังจากผลิตไวน์มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (Han Dynasty) ซึ่งปกครองจีนในระหว่างปีที่ 206 BC.- 220 AD.
ก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมไวน์ยุคใหม่เกิดขึ้นในยุคที่มีการสถาปนาประเทศเป็นสาธารณะรัฐประชาชนจีน (The People Republic of China) ใน ราวปี 1949 จากการผลักดันของกระทรวงอุตสาหกรรมแห่งชาติ (State Ministry of Industry) ส่งผลให้มีการตั้งบริษัทผลิตไวน์หลายแห่ง
ปัจจุบันจีนมีพื้นที่ปลูกองุ่นกว้างใหญ่ไพศาล ไล่ตั้งแต่ ซินเกียง (Xinjing) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ไปจนถึงชานตง (Shandong), เหลียวหนิง (Lianoning) และจีหลิง (Jilin) ทางตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตามองุ่นส่วนใหญ่ใช้กินสดหรือตากแห้งเป็นลูกเกด มีเพียง 20 % ใช้ทำไวน์ ซึ่งมีมากกว่า 300 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตรายเล็กๆ มีผู้ผลิตรายใหญ่ประมาณ 30-40 ราย แต่ที่มีชื่อเสียงและทำไวน์ในแบบอย่างที่เป็นมาตรฐานสากลในยุคเริ่มต้นมีอยู่ 4 บริษัทคือ
ไดนาสตี้ ไวน์เนอรี่ (Dynasty Winery) ก่อตั้งในปี ค.ศ.1980 เป็นบริษัทผู้ผลิตไวน์ที่ร่วมลงทุนกับต่างชาติแห่งแรกในประเทศจีน โดยได้รับการสนับสนุนด้านเทคนิคการปลูกองุ่นและการผลิตไวน์จากกลุ่มเรมี คอนโทร(Remy Cointreau) ยักษ์ใหญ่วงการไวน์และสปิริตแห่งฝรั่งเศส ร่วมกับบริษัท เทียนจิน ดีเวลลอปเมนท์ โฮลดิ้ง จำกัด 882 (Tianjin Development Holdings Ltd. (882) ผลิตไวน์ที่มีชื่อ ไดนาสตี้ (Dynasty)
ไดนาสตี้ ไวเนอะรี ตั้งอยู่บริเวณอ่าวโป ไห่ (Bo Hai) เมืองเทียนจิน (Tianjin) มณฑลเหอเป่ย (Hebei) เป็นการร่วมลงทุนระหว่างบริษัท เรมี มาร์แตง ฟาร์อีสต์ (Remy Martin Far East) กับมูนิซิปาล เทียนจิน ไวเนอะรี (Municipal Tianjin Winery) และสมาคมการค้านานาชาติและการวิจัยทางเทคโนโลยี หรือ ไอเอ็นทีทีอาร์เอ ( International Trade and Technology Research Associates = INTTRA) ในสัดส่วนของการถือครองหุ้น 33% 62% และ 5% เป็นโรงงานผลิตไวน์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
ไดนาสตี้ ไวเนอะรี เริ่มผลิตในปี 1980 จำนวน 100,000 ขวด ส่วนใหญ่เป็นประเภทเซมิ- ดราย (Semi-Dry) และเพิ่มเป็น 22,460,000 ขวดในปี 1988 ปัจจุบันผลิตได้ปีละกว่า 50 ล้านขวด ผลิตไวน์ 3 ซีรีส์ 16 ประเภท 90% ขายในประเทศ ที่เหลือส่งออกไปขายยัง 20 ประเทศทั่วโลก ตลาดใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษ โดยในประเทศจีนไดนาสตี้ครองตลาดอยู่ประมาณ 50 % เฉพาะประเภทดรายไวน์ (Dry) ถูกเสิร์ฟในงานเลี้ยงระดับนานาชาติ และส่งให้กับสถานทูตจีนและสถานกงสุลจีนประมาณ 231 แห่ง
ปัจจุบันไดนาสตี้ผลิตและขายไวน์กว่า 50 ชนิด นอกจากนั้นยังผลิตบรั่นดี (Brandy) ที่ทำจากองุ่นอูญี บลอง (Ugni blanc) เหมือนในคอนยัค ของฝรั่งเศส แถมยังบ่มในถังไม้โอ๊คจากฝรั่งเศสอีกด้วย มีระบบการบริหารจัดการที่ดี ได้รับการรับรองระบบบริหารคุณภาพ ISO 9002 ในปีค.ศ.1996 / ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO14001 ในปีค.ศ.2000 / ISO 9001: 2000 ในปี 2002 และ HACCP Certificate ในปี 2006
ดราก้อน ซีล ไวน์ คอร์พะเรชั่น (Dragon Seal Wines Corporation) เป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่างเป่ยจิง ไวเนอะรี (Beijing Winery) กับกลุ่มบริษัท แปร์นอด ริคาร์ด (Pernod Ricard) แห่งประเทศฝรั่งเศส ก่อตั้งเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ.1987 ในเขตไห่เตียน (Hai Dian District) เมืองเป่ยจิง หรือปักกิ่ง(Beijing) มีทุนจดทะเบียน US$ 1.2 ล้าน โดยเมื่อเริ่มก่อตั้งกลุ่มบริษัท แปร์นอด ริคาร์ด ถือครองหุ้นอยู่ 33%
ดราก้อน ซีลฯ ก่อตั้งในปี 1910 โดยมิชันนารีชาวฝรั่งเศส ปี 1946 จดทะเบียนใช้ชื่อว่า La Shangyi Cave de Pekin (Shangi Winery of Beijing) ช่วงทศวรรษที่ 1956 ไร่องุ่นแห่งนี้ตกเป็นของรัฐบาลพร้อมกับชื่อใหม่ว่า Beijing Winery ดังกล่าว ไวน์ขวดแรกถูกผลิตออกสู่ตลาดในปีค.ศ.1988 ซึ่งชาวจีนถือว่าเป็นปีมังกรตามปฏิทินทางจันทรคติของชาวจีน จึงนำเอาชื่อ ดราก้อน (Dragon) ที่เป็นศิริมงคลมาเป็นชื่อของไวน์ดรากอน ซีล (Dragon Seal) ดังนั้นไวน์ Dragon Seal จึงเป็นไวน์ที่ชาวจีนมีความภูมิใจเป็นอย่างมาก แต่ในปีนั้นผลิตไวน์ออกสู่ตลาดในปริมาณที่ไม่มากนัก
ไวน์รุ่นที่สร้างชื่อให้กับดราก้อน ซีล คือไวน์แดงจากองุ่นกาแบร์เนต์ โซวีญยง (Cabernet Sauvignon) โดย Dragon Seal Cabernet Sauvignon 1997 ได้รางวัล “The best Chinese Red Wine” ในงาน Hong Kong International Wine Competitions 1999 และ Dragon Seal Huailai Reserve Reed 1997 ได้เหรียญบรอนซ์จากงาน “Bordeaux International Wine Competition” 2000 ขณะที่ไวน์ขาวจากชาร์ดองเนย์ (Chardonnay) รุ่น Dragon Seal Chardonnay ได้รับเหรียญเงินในงาน “Chardonnay du Monde” ในเบอร์กันดี (Burgundy) ปี 1996
นอกจากนั้นยังผลิตสปาร์คกลิ้งไวน์จากชาร์โดเนย์ ด้วยกรรมวิธีเดียวกับแชมเปญคือ Champagne Method (Mèthode Champenoise) ซึ่ง Dragon Seal Sparkling Wine ได้รับ “Medaille d’argent ในงาน “Sélections Mondiales 2000 ที่มอนทริออล ประเทศแคนาดา เป็นต้น
ขณะเดียวกันก็ผลิตไวน์ขาวจาก รีสลิ่ง (Riesling) และมุสแคต (Muscat) มีโรเซ่จากองุ่นกาเมย์ (Gamay) มีไวน์แดงจากแมร์โลต์ (Merlot) และกาแบร์เนต์ เกอร์นิสช์ (Cabernet Gernischt) เป็นต้น
ดราก้อน ซีล นับเป็นไวน์สไตล์ฝรั่งเศสโดยแท้ เนื่องจากการผลิตทุกขั้นตอนอยู่ในการควบคุมของทีมงานผลิตไวน์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งแปร์นอด ริคาร์ด จัดส่งมา ร่วมกับทีมงานผู้ชำนาญการของจีน ที่ถูกส่งไปเรียนรู้วิธีการทำไวน์ในประเทศฝรั่งเศสเช่นกัน
ไชน่า เกรท วอลล์ ไวน์ คอมปานี (China Great Wall Wine Company) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เกรท วอลล์ (Great Wall) อยู่ในฮวยเหลย (Huailai) เมืองซาเชิง (Shacheng) มณฑลเหอเป่ย (Hebei) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปักกิ่ง และอยู่ไม่ไกลจากกำแพงเมืองจีน ก่อตั้งในปี 1983 โดยกลุ่มนักธุรกิจชาวจีนทั้งหมด ด้วยทุนจดทะเบียน 32 ล้านหยวน เป็น 1 ใน 500 บริษัทที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ของจีน
เกรท วอลล์ ใช้เทคโนโลยีการผลิตไวน์จากฝรั่งเศส เยอรมัน และอิตาลี มีกำลังผลิตประมาณ 50,000 ตัน โดยไวน์ที่ผลิตจากไชน่า เกรท วอลล์ มีมากถึง 33 ฉลาก ในชื่อว่าชาโต เกรท วอลล์ (Chateau Great Wall) ซึ่งก็คือกำแพงเมืองจีนสัญลักษณ์ของจีนนั่นเอง ที่สำคัญผลิตไวน์กว่า 100 ประเภท เช่น ดราย,เซมิ – ดราย,ไวน์หวาน,กึ่งหวาน,โรเซ่,ฟอร์ติไฟด์ ไวน์,สปาร์คกลิ้งไวน์ และเหล้ากลั่น
ไวน์ที่สร้างชื่อให้กับเกรท วอลล์ เช่น Great wall Red Dry ทำจากองุ่นกาแบร์เนต์ โซวีญยองกับแมร์โลต์ Great wall White Dry ทำจากชาร์ดองเนย์ และ Great wall Sparkling ทำจากชาร์ดองเนย์กับปิโนต์ นัวร์ ผลิตด้วยกรรมวิธีเดียวกับแชมเปญ (Mèthode Champenoise) เป็นต้น ส่งไปขายกว่า 20 ประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น เป็นบริษัทที่ส่งไวน์ออกมากที่สุดของไวน์จีน
ชิโน – ฟอริน จอยน์ เวนเจอร์ หัวตง ไวเนอะรี (Sino-Foreign Joint-Venture Huadong Winery) ซึ่งรายละเอียดได้กล่าวถึงในตอนแรกมาแล้ว เป็นต้น
นอกจากการผลิตไวน์ในประเทศแล้ว นักลงทุนจีนยังข้ามน้ำข้ามทะเลไปซื้อไวเนอะรีในต่างประเทศ โดยเฉพาะในเมืองบอร์กโดซ์ของฝรั่งเศส กว่า 50 ชาโตมีเศรษฐีจีนเป็นเจ้าของ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “ แจ๊ค หม่า”..!!

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...