เคยมีการสอบถามสำรวจว่า ถ้าพูดถึงไวน์ออสเตรเลีย ท่านจะนึกถึงยี่ห้ออะไรเป็นอันดับแรก ? ร้อยทั้งร้อยต้องตอบว่า “เพนโฟลด์ส” (Penfolds) เป็นไวน์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดแห่งทศวรรษนี้ ประวัติศาสตร์ของเพนโฟลด์ส เริ่มขึ้นพร้อม ๆ กับที่ชาวยุโรปอพยพมาอยู่ในออสเตรเลีย หรือเมื่อประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว นับเป็นไวน์เก่าแก่ตัวหนึ่งของออสเตรเลีย มีผู้คนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเขามาครอบครองมากมาย บริษัทแม่ในปัจจุบันคือ Treasury Wine Estates ซื้อหุ้นมาเมื่อกลางปี 2011 นอกจากไวน์กว่า 60 ยี่ห้อจากหลายประเทศทั่วโลกแล้วยังสปิริต เบียร์ และอื่น ๆ อีกมากมาย
เพนโฟลด์มีไร่องุ่นหลัก ๆ อยู่ 4 ไร่ คือ Magill Estate Vineyard,Kalimna Vineyard,Koonunga Hill Vineyard และ Clare Estate Vineyard องุ่นที่ปลูกในไร่เหล่านี้ประกอบด้วย ชิราซ,กาแบร์เนต์ โซวีญยอง,มาทาโรหรือมูร์แวด (Mataro หรือ Mourvedre) และมาลเบค (Malbec) เล็กน้อย ส่วนองุ่นเขียวมีชาร์โดห์เนย์ (Chardonnay) เป็นหลัก ตามด้วยเซมิลยอง (Semillon) ริสลิ่ง (Riesling) วิญอเยร์ (Viognier) และโซวีญยอง บลอง (Sauvignon Blanc)
…..………….
อากาศตอนสาย ๆ บริเวณคาลิมนา วินเยิร์ด (Kalimna Vineyards) หลังการฤดูการเก็บเกี่ยว อากาศกำลังเย็นสบาย ๆ ทีมงานของ Penfolds นำโดย Steve Lienert – Penfolds Senior Winemaker และ George Taylor – Penfolds Vineyard Manager พร้อมทีมงานจัดเตรียมอาหารรองท้องพร้อมไวน์ขาวรีสลิง (Riesling) ไว้ต้อนรับผู้ไปเยือนจากเอเชีย บริเวณด้านหน้าบ้าน Penfolds Kalimna Homestead เพื่อรอเฮลิคอปเตอร์มารับบินขึ้นชมความยิ่งใหญ่ของ Penfolds และอาณาบริเวณใกล้เคียง ตรงหน้าบ้านที่ทำเป็นสนามหญ้าขนาดหนึ่งในสามของสนามฟุตบอล เนื่องจากลำไม่ใหญ่ความจุเพียง 4 คนจึงไม่ต้องใช้สถานที่มาก เฮลิคอปเตอร์เป็นของบริษัท Barossa Helicopters ที่ทาง Penfolds เช่ามาสำหรับท่านที่ต้องการชมความงดงามและความยิ่งใหญ่ของอาณาจักร Penfolds โดยเฉพาะ
จิบไวน์กำลังกรุ่มกริ่ม เฮลิคอปเตอร์ 3 ลำค่อย ๆ ทยอยร่อนลงจอดบนลานด้านหน้า Penfolds Kalimna Homestead โดย 1 ในจำนวนนั้นมีคนขับเป็นสาวสวย ส่วนลำของผมเป็นเด็กหนุ่มที่เคยมาเมืองไทย โดยมีเพื่อนร่วมลำเดียวกันเป็นสิงค์โปร์และฮ่องกง รวมเป็น 4 ชีวิต
“ยินดีต้อนรับสู่เฮลิคอปเตอร์…...” กัปตันหนุ่มน้อยกล่าวต้อนรับผู้โดยสาร
“คุณกลัวเฮลิคอปเตอร์หรือเปล่า ?”…เขาถามผู้โดยสารทุกคน สุดท้ายคือผม
“ไม่กลัว….ผมเคยขึ้นเฮลิคอปเตอร์มาแล้ว 7-8 ครั้ง ทุกครั้งกลัวอยู่อย่างเดียว….” ผมตอบ
“กลัวอะไร ?…ทำใจให้สบาย ผ่อนคลาย....”…กัปตันหนุ่มให้กำลังใจ
“กลัวเฮลิคอปเตอร์ตก……” ….????…เรียกเสียงฮาก่อนเผชิญความหวาดเสียว
อย่างที่บอกในตอนแรกเนื่องจากเป็นเฮลิคอปเตอร์ขนาด 4 ที่นั่ง เมื่อเจอกระแสลมจึงออกอาการแกว่ง ๆ เป๋ ๆ บ้าง คล้ายคนเมา และเกิดขึ้นหลายครั้งทำให้อาตี๋ทั้ง 2 คนร้องอั๊ยหยา ๆ ๆ !!!…การที่ทุกคนต้องสวมหูฟังและคุยกับทางไมค์เล็ก ๆ เมื่ออาตี๋ร้องแต่ละทีหูแทบแตก…….ส่วนผมเฉย ๆ อาศัยประสบการณ์นักข่าวเคยนั่งเฮลิคอปเตอร์ทหารมาแล้ว โหดยิ่งกว่านี้หลายเท่าตัว
เฮลิคอปเตอร์บินด้วยความสูงน่าจะประมาณ 200 – 300 เมตร จึงสามารถมองเห็นทิวทัศน์ด้านล่างได้ค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะไร่องุ่นเป็นทิวแถวงดงาม สลับกับโรงไวน์ที่เรียงรายอยู่รอบ ๆ Valley ที่ใหญ่สุดคือบารอสซา แวลลีย์ (Barossa Valley) พื้นที่หลักของการบินครั้งนี้ ภาพจากมุมสูงจะเห็นการทำไร่องุ่นอย่างเป็นระบบของเขา การปลูกองุ่นนั้นไม่ใช่ว่าสักแต่มีที่แล้วก็ปลูกได้เลย จะต้องมีการวางผังแปลง ว่าจะให้องุ่นรับลม รับแดด ได้มากน้อยเพียงใด ? และอย่างไร ? ตามความต้องการขององุ่นแต่ละสายพันธุ์ซึ่งไม่เหมือนกัน เรื่องเหล่านี้สามารถนำมาปรับแต่งใช้กับการเกษตรบ้านเราได้ แต่ที่ทำไม่ได้เพราะอุปสรรคสำคัญคือวิสัยทัศน์ของผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง
Barossa Valley เป็นหนึ่งเขตผลิตไวน์สำคัญยิ่งยวดของรัฐเซาท์ ออสเตรเลีย (South Australia) มีโรงผลิตไวน์ขนาดใหญ่หลายแห่ง โดยมี Penfolds โดดเด่นที่สุด ส่วนหนึ่งเพราะตัวอาคารที่เก่าแก่และมีเอกลักษณ์ นอกนั้นเป็นรายอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่อพยพมาจากยุโรป เช่น เยอรมัน และอังกฤษ จับจองพื้นที่ หักร้างถางพง ปลูกองุ่น ช่วงแรก ๆ ที่องุ่นยังไม่แก่กล้าสามารถทำไวน์ได้ พวกเขาก็ใช้องุ่นเอ๊าะ ๆ เหล่านี้มากลั่นเป็นสปิริต และเป็นส่วนผสมของฟอร์ติไฟด์ ไวน์ แบบเดียวกับพอร์ตของโปรตุเกส
คริสโตเฟอร์ รอว์สัน เพนโฟลด์ (Christopher Rawson Penfold) หมอหนุ่มชาวอังกฤษก็คือหนึ่งในจำนวนนั้น เขาเดินทางมายังออสเตรเลีย เมื่อปี 1845 พร้อมแมรี (Mary) ภรรยาและจอร์จินา (Georgina) ลูกสาว ลงหลักปักฐานด้วยการซื้อพื้นที่ 200 เฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ = 6 ไร่ 1 งาน) ด้วยเงิน 1,200 ปอนด์ ที่มากิลล์ (Magill) เชิงเขาเมาท์ ลอฟตี (Mount Lofty) ห่างจากเมืองอเดเลด (Adelaide) ประมาณ 8 กม.หมอหนุ่มตั้งชื่อบ้านของเขาว่า The Grange ตามชื่อบ้านเดิมของภรรยาที่อังกฤษ พร้อมความเชื่อในเรื่องประโยชน์ของไวน์ ซึ่งฝังลึกมาตั้งแต่เรียนหมอที่ St Bartholomew’s Hospital,London เป็นบ่อเกิดและจุดประกายที่จะทำไวน์ระดับคุณภาพ
หมอเพนโฟลด์เสียชีวิตในปี 1870 งานทุกอย่างจึงตกอยู่ในมือของแมร์รี วันหนึ่งในช่วงทศวรรษที่ 1930 บริษัทได้รับเด็กส่งเอกสารเข้ามาทำงานชื่อแม็กซ์ ชูเบิร์ต (Max Schubert) เขาเป็นคนขยันขันแข็งและไฝ่หาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ จนได้เป็นหัวหน้าไวน์เมกเกอร์ด้วยวัยเพียง 33 ปี ถูกส่งไปดูการผลิตไวน์หลายประเทศ เขาคือผู้ให้กำเนิดไวน์เแพงที่สุดของออสเตรเลียนั่นคือ Grange Hermitage จนเป็นตำนานหน้าหนึ่งของไวน์ออสเตรเลีย และปัจจุบันใช้ชื่อว่า Grange
Penfolds มีไร่องุ่นหลัก ๆ อยู่ 4 ไร่ คือ Magill Estate Vineyard,Kalimna Vineyard,Koonunga Hill Vineyard และ Clare Estate Vineyard องุ่นที่ปลูกในไร่เหล่านี้ก็คือชิราซ,กาแบร์เนต์ โซวีญยอง,มาทาโรหรือมูร์แวด (Mataro หรือ Mourvedre) มีมาลเบค (Malbec) เล็กน้อย ส่วนองุ่นเขียวมีชาร์โดห์เนย์ (Chardonnay) เป็นหลัก ตามด้วยเซมิลยอง (Semillon) ริสลิ่ง (Riesling) และโซวีญยอง บลอง (Sauvignon Blanc) นอกจากนั้นยังมีไร่เล็ก ๆ อีกหลายแห่ง ปลูกองุ่นดัง ๆ ของโลกหลายพันธุ์
……………………..
ประมาณครึ่งชั่วโมงเฮลิคอปเตอร์ก็พาเราวนกลับมาที่เดิม ลานด้านหน้า Penfolds Kalimna Homestead เพื่อกินอาหารกลางวัน และพูดคุยกับปีเตอร์ เกโก(Peter Gago) หัวหน้าไวน์เมกเกอร์ของ Penfolds เครื่องจอดสนิทอาตี๋ที่ร่วมลำเดียวกับผมรีบโกยหน้าตั้งเข้าห้องน้ำ พร้อมเสียงโอ้ก อ้าก !!!! ขณะที่อีกคนไปไม่ทันหรืออาจจะใจร้อนไปหน่อย เพิ่มปุ๋ยให้ต้นไม้บริเวณนั้นเลย……
หลังจากทุกคนเสร็จธุระเรียบร้อยพวกเขาก็ถามผมว่า “คุณไม่เป็นอะไรเลยหรือ ?…..” ผมบอกว่า “สบายมาก ไม่เป็นไร ผมฉี่บนเครื่องเรียบร้อยแล้ว..!!!!.” ….ตบมุขก่อนมื้อกลางวัน ทำให้พวกเขาผ่อนคลายขึ้น
เสร็จจากชื่นชมทางภาพพื้นอากาศ กินข้าวกินปลา (ทั้งที่จริง ๆ ไม่มีทั้งข้าวและปลา…) พักผ่อนเล็กน้อยก็ถึงคิวย่อยอาหาร ด้วยการเดินชมความยิ่งใหญ่ของ Penfolds ในภาคพื้นดิน ไล่เรียงมาตั้งแต่กระบวนการเก็บองุ่นจนกระทั่งส่งมาบีบคั้นน้ำ การหมัก การบ่ม บรรจุขวด ฯลฯ อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องราวความเป็นมาของ Penfolds เริ่มก่อตั้ง จนถึงยุคปัจจุบัน…เดินกันได้เหงื่อซึมพอสมควร
มื้อเย็นจริง ๆ แล้วเราต้องดินเนอร์กันที่ร้านอาหาร Magill Estate Restaurant ของเพนโฟลด์ ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับโรงผลิตไวน์นั่นเอง แต่ตอนนั้นเขาปิดซ่อมแซม จึงต้องดินเนอร์กันในเซลลาร์ใต้ดินชื่อห้อง แม็กซ์ ชูเบิร์ต (Max Schubert) ซึ่งตั้งเพื่อเป็นเกียรติกับไวน์เมกเกอร์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เป็นตำนานของทั้ง Penfolds และออสเตรเลียยุคใหม่ แต่ถือว่าโชคดีเพราะหลังจากห้องอาหารตัวจริงปิด ห้องนี้จะถูกใช้จัดดินเนอร์พิเศษสำหรับวีไอพีเท่านั้น เพราะพื้นที่จำกัดประมาณ 20 ที่นั่ง ได้บรรยากาศดี รอบ ๆ ห้อง รายล้อมด้วยชั้นวางไวน์ Penfolds รุ่นต่าง ๆ น่าจะกว่า 1,000 ขวด พร้อมภาพเขียนสี Max Schubert ฝีมือศิลปินหลาย ๆ คน ได้ทั้งอาหารตา อาหารใจ และอิ่มท้อง …
Magill Estate Restaurant เป็นร้านอาหารที่มีชื่อเสียงมาก เคยได้รับรางวัล Restaurant of the Year 2011 จากนิตยสาร The Advertiser Food Guide ผู้คนจากตัวเมืองอเดเลดและใกล้เคียงจะเดินทางไปดินเนอร์กันอย่างคับคั่งทุกคืน เพราะอาหารอร่อยบรรยากาศดีเยี่ยม นั่งอยู่ในร้านสามารถมองเห็นแปลงองุ่นอายุเฉียด 100 ปี ที่ใช้ทำไวน์รุ่น Grange ท่านที่มีโอกาสไปอเดเลดควรแวะไปสักครั้ง จากตัวเมืองประมาณ 20 นาทีเท่านั้น
Magill Estate Restaurant ปิดไปเกือบ 2 ปี เพิ่งเปิดอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่เปิดให้มีการจองโต๊ะตั้งล่วงหน้า 1 เดือนคือตั้งแต่วันที่ 29 กรกฏาคมที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็เป็นการต้อนรับเชฟใหญ่คนใหม่ด้วยชื่อ Scott Huggins มาแทนเชฟคนเดิมที่ผมไปชิมฝีมือของเขาเมื่อหลายปีก่อนชื่อ Jock Zonfrillo เชฟ Scott Huggins วัย 30 ปีเป็นชาวเมลเบิร์นเคยทำงานอยู่ร้านอาหารระดับมิชแลงทั่วโลก ล่าสุดอยู่กับ Nihonryori Ryugin ร้าน 3 ดาวมิชแลงในโตเกียว และอยู่ในอันดับ 22 ของ World’s 50 Best Restaurants 2013 ไม่ธรรมดา
นอกจาก Penfolds แล้วรัฐเซาท์ ออสเตรเลีย รอบ ๆ Adelaide เมืองหลวง ยังมีอีกหลายอย่างที่น่าสนใจ โดยเฉพาะท่านที่อยากจะเรียนรู้เรื่องไวน์ ที่มหาวิทยาลัย อเดเลด (The University of Adelaide) มีหลักสูตรสอนการทำไวน์หรือไวน์เมกเกอร์ (Winemaker หรือ Oenology) โดยสาขานี้ต้องไปเรียนที่วิทยาเขต Waite Campus กลางไร่องุ่นอุปกรณ์ตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยมาก เรียกว่าทันสมัยที่สุดในย่านนี้ จบแล้วจะปริญญาตรี Bechelor of Oenology เมืองไทยก็มีคนจบมาแล้ว
นอกจากนั้นที่นี่ยังมีการสอนปริญญาโททางด้าน Wine Marketing แต่ในบ้านเราสาขานี้คงใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่นัก เพราะรู้ ๆ กันอยู่ว่าเต็มไปด้วยเสือ สิงห์ กระทิง แรด (อันนี้เป็นคำเปรียบเทียบนะ เดี๋ยวพวกอาชีพชเลียร์จะมาฟ้องร้องกัน) จริง ๆ แล้วเขาน่าจะเชิญคนขายไวน์บ้านเราไปสอนด้วยซ้ำไป นอกจากนั้นยังมีหลักสูตร Postgraduate Training in Oenology น่าสนใจมากคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องไวน์ น่าจะไปเรียน บ้านเรายังขาดแคลนบุคลากรทางด้านนี้ ขณะที่ชาติเพื่อนบ้านอีกหลายชาติก็กำลังสนใจปลูกองุ่นทำไวน์มากขึ้น
อีกแห่งหนึ่งที่สมควรไปดูก็คือ เนชั่นแนล ไวน์ เซ็นเตอร์ ออฟ ออสเตรเลีย (National Wine Centre of Australia) อยู่ติดกับสวนพฤกษศาสตร์ จากใจกลางเมืองสามารถนั่งรถเมล์ไปก็ได้ เข้าชมฟรี ลักษณะคล้ายพิพิธภัณฑ์ไวน์ มีการจัดแสดงความเป็นมาของการผลิตไวน์ของออสเตรเลียทุกอย่าง รวมทั้งไวน์ที่ผลิตในออสเตรเลียจะถูกส่งตัวอย่างมาเก็บไว้ที่นี่ เรียงรายอยู่ชั้นใต้ดินเต็มไปหมด ที่สำคัญมีไวน์ให้ชิมด้วย
เพนโฟลด์ (Penfolds) เป็นไวน์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดแห่งทศวรรษนี้ ในฐานะการสร้างแบรนด์เนมจนเมื่อพูดถึงไวน์ออสเตรเลียจะต้องนึกถึงเพนโฟลด์เป็นอันดับแรก อย่างที่กล่าวในตอนแรกจึงไม่แปลกใจว่าทำไมจึงมีผู้อยากครอบครองเป็นเจ้าของโฟลด์กันนัก แล้วคุณล่ะ !!!!!!