“A plateau of rolling golden hills… a chunk of southern France, carved out and shipped to Asia.”
เป็นข้อความที่นิตยสาร Asia Times describes กล่าวถึงชาโต เดอ เลย ตำนานหน้าหนึ่งของวงการไวน์ไทย
ไวน์ “ชาโต เดอ เลย” (Chateau de Loei) ก่อตั้งโดยหมอชัยยุทธ กรรณสูต ผลิตไวน์คุณภาพมาตรฐานสากลตามกฎหมายใหม่เป็นเจ้าแรกในเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. 2534 หลังรัฐบาลสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน ออกกฏหมายให้ประชาชนผลิตไวน์ได้ ตอนนั้นมีผู้ยื่นเรื่อง 8 ราย Chateau de Loei เป็นเจ้าแรก อย่างไรก็ตามหมอชัยยุทธได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2547 ทิ้งตำนานหน้าหนึ่งของวงการไวน์ไทยให้ทายาทได้สืบสาน
ช่วงที่ออกมาใหม่ ๆ หลายคนเรียกว่าไวน์ตราไก่ เนื่องจากมีรูปไก่ตัวใหญ่ยืนอยู่บนไร่องุ่นในฉลาก ทั้งนี้เนื่องจากหมอชัยยุทธเกิดปีระกา แต่ก่อนจะมีคำว่า “ชาโต เดอ เลย” นั้น หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า ชื่อเดิมที่เจ้าของตั้งใจจะใช้คือ ชาโต ภูเรือ ตามสถานที่ตั้งของไร่องุ่นใน อ.ภูเรือ จ.เลย นายสุธี สิงห์เสน่ห์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 3 สมัย เห็นชื่อดังกล่าว จึงแนะนำว่าชื่อชาโต ภูเรือธรรมดาไป ประกอบกับการออกเสียงของชาวต่างชาติค่อนข้างยาก น่าจะเรียกว่า “ชาโต เดอ เลย” เพราะนอกจากจะง่ายในการออกเสียงแล้ว ยังมีความหมายตามภาษาฝรั่งเศส L’OYE หมายถึงนัยน์ตาอีกด้วย
Chateau de Loei มีไร่ปลูกองุ่นกว่า 1,000 ไร่อยู่ในพื้นที่เรียกว่าที่ราบสูงภูเรือ หรือ “แพลโท เดอ ภูเรือ” (Plateau de Phurua) ผลิตไวน์ออกจำหน่ายอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 1995 โดยมีบริษัท ซี.พี.เค.แพลนเตชั่น จำกัด (C.P.K.Plantation Co.,Ltd) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ดูแลการตลาด ได้ชื่อว่าเป็นไวน์ไทยเจ้าแรกที่ส่งออกไปขายในยุโรปและญี่ปุ่น
Chateau de Loei ถูกแนะนำตัวให้ต่างชาติรู้จักครั้งแรก ในการประชุมร่วมเอเชีย-ยุโรป (ASEM) เมื่อปี 1996 ท่ามกลางความสงสัยแคลงใจที่มักจะเกิดขึ้นกับสินค้าไทยเสมอ ขณะที่คนในวงการไวน์ พากันลุ้นเอาใจช่วย อยากเห็นไวน์ไทยที่ผลิตจากองุ่นอย่างแท้จริง และขายในราคาไม่แพง
หลังจากนั้นก็เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก เมื่อนิตยสาร ไวน์สเปกเตเตอร์ (Wine Spectator) ซึ่งเป็นนิตยสารไวน์ทรงอิทธิพลฉบับหนึ่งของวงการไวน์โลก ได้ลงเรื่องราวของ Chateau de Loei ยิ่งทำให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั่วโลก เพราะนิตยสารเล่มนี้วางจำหน่ายทั่วโลก และมีเวบไซต์ ตอนนั้นผมมีเพื่อนในวงการไวน์มาจากต่างประเทศบอกว่ารู้จัก Chateau de Loei จากเวบไซต์ดังกล่าว ผมก็ต้องไปหามาให้พวกเขาชิมได้แลกเปลี่ยนความรู้กันพอสมควร
วันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2006 รัฐบาลฝรั่งเศสให้การรับรองการผลิตไวน์ของบริษัทในมาตรฐานของเอโอซี ทำให้ได้เข้าไปเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย คุ้มครองเรื่องผลประโยชน์ หรือจีไอ (GI) นอกจากนี้บริษัทได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทย เป็น ”แพลโต เดอ ภูเรือ” ขณะที่กรมสินทรัพย์ทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้มอบใบทะเบียนคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ให้ไวน์ Chateau de Loei เมื่อ พ.ศ. 2549 พร้อมสินค้าไทยอย่างอื่น 9 ชนิด
จีไอ (GI) มาจากคำว่า Geographical Indications คือมาตรการคุ้มครองหรือเป็นสิทธิประเภทหนึ่งในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้ากำหนดขึ้นมาเพื่อปกป้องคุ้มครองชื่อเสียงและคุณภาพของสินค้า (โดยเฉพาะสินค้าเกษตรได้แก่ไวน์และสุรา) ไม่ให้ถูกแอบอ้างชื่อ ลอกเลียนแบบ อันจะทำให้ผู้บริโภคหลงเข้าใจผิดในแหล่งที่มา และส่งผลกระทบต่อสินค้าตัวจริง
ไวน์ Chateau de Loei มีหลากหลายรุ่น พัฒนาและปรับเปลี่ยนบางอย่างอยู่เรื่อย ๆ โดยวินเทจ 2003 ฉลากยังเป็นรุ่นเดิม แต่บางรุ่นของวินเทจ 2004 เป็นต้นไปฉลากเป็นรุ่นใหม่ หลังจากได้รับจีไอ (GI) ที่สำคัญบางรุ่นได้รับรางวัลชมเชยยอดเยี่ยม ประเภทไวน์ขาว เอ็กซ์ตร้า ดราย สเปเชียล 2005 ในการแข่งขัน The International Wine & Spirit Competition 2006 ที่กรุงลอนดอน และไวน์แดง ชิราซ รีเสิร์ฟ วินเทจ 2003 ได้รับรางวัลชนะเลิศที่ 1 จากงาน The International Food & Hospitality 2004 เป็นต้น
อีกอย่างหนึ่งที่ Chateau de Loei ได้สร้างตำนานไว้ก็คือ “สปาร์คกลิ้ง เดอ เลย” (Sparkling de Loei) เป็นสปาร์คกลิ้งไวน์เต็มรูปแบบยี่ห้อแรกของเมืองไทย เนื่องจากกระบวนการผลิตแบบเดียวกับแชมเปญของฝรั่งเศส แต่ใช้คำว่า “แชมเปญ” ไม่ได้ เพราะได้ผลิตในแคว้นแชมเปญ แต่ไวน์เมกเกอร์ก็มาจากแคว้นลัวร์ (Loire)ของฝรั่งเศสซึ่งมีความถนัดในการทำสปาร์คกลิ้งไม่แพ้แคว้นแชมเปญ ประการสำคัญที่ลัวร์ก็ผลิตสปาร์คกลิ้งด้วยองุ่น เชอแนง บลอง ด้วย ตอนนั้นทำอยู่ 2 รุ่น
ชาโต เดอ เลย แพลโท เดอ ภูเรือ เชอแนง บลอง เดมิเซค สปาร์คกลิ้งไวน์ (Chateau de Loei Plateau de Phurua Chenin Blanc Demi sec Sparkling Wine) เรียกสั้น ๆ ว่า “เดมิเซค เดอ เลย” เป็นสปาร์คกลิ้งสไตล์แคว้น Loire ดังกล่าวรสชาติออกหวานนิด ๆ ดื่มง่าย กลิ่นหอมดอกไม้ ผลไม้สุก และยีสต์ คุณภาพเกินราคา
อีกรุ่นหนึ่ง สปาร์คกลิ้ง เดอ เลย ดราย (Sparkling de Loei Dry) ซึ่งออกมาในช่วงที่ชาโต เดอ เลย ครบรอบ10 ปี ตัวนี้ดื่มแล้วสดชื่น หวานติดปลายลิ้นนิด ๆ ดื่มง่ายๆ พรายฟองปานกลาง แช่ประมาณ 8-9 องศา เหมาะกับอาหารไทยเผ็ดๆ ปัจจุบันทั้ง 2 รุ่นไม่ทราบว่ายังผลิตอยู่หรือไม่ ผมไม่ได้ชิมมานาน
นอกจากนั้นยังทำ โรเซ ชื่อ ชาโต เดอ เลย ซิราซ โรเซ (Chateau de Loei Shiraz Rose) มีกลิ่นหอมผลไม้ เช่น สตรอว์เบอร์รี เบอร์รี และดอกไม้ ไวน์หวาน : ชาโต เดอ เลย เชอแนง บลอง (Chateau de Loei Chenin Blanc Dessert ) บรั่นดี : กลั่นจากองุ่นเชอแนง บลอง มี 2 รุ่น ๆ แรกฉลากเป็นตราหนุมาณ ชื่อ “วิคตอรี วี.เอส.โอ.พี.” (Victory V.S.O.P.) บ่ม 5 ปี และรุ่นคุณภาพรองลงมาชื่อ “มาร์ค เดอ เลย” (Marc de Loei) บ่ม 1 ปี และ ฟอร์ติไฟด์ (Fortified) ชื่อ “รูบี้ เดอ เลย” (Ruby de Loei) มีเฉพาะขวดเล็กขนาด 375 ม.ล. แอลกอฮอล์ 18.5 % เป็นต้น บางอย่างก็เป็นตำนานที่ให้คอไวน์ระลึกถึงไม่เคยลืม
ผมได้ชิมชาโต เดอ เลย วินเทจล่าสุดคือ 2014 ของเขาอยู่ 3 รุ่น เป็นไวน์ขาว 1 และไวน์แดง 2 ตัว แถมด้วยไวน์สไตล์ดื่มง่าย ๆ สำหรับผู้เริ่มต้นดื่มไวน์อีก 2 ตัว ณ ที่นี้จะขอกล่าวถึง 3 ตัวแรก
ชาโต เดอ เลย,”จีโอแกรฟฟิเคิล อินดิเคชัน แพลโท เดอ ภูเรือ”,เชอแนง บลอง 2014 (Chateau de Loei,Geographical Indication Plateau de Phurua,Chenin Blanc 2014) เป็นไวน์ขาวที่สร้างชื่อให้กับชาโต เดอ เลยมาตั้งแต่แรกเริ่มผลิตไวน์ และน่าจะเป็นผู้ที่ผลิตไวน์จากองุ่นพันธุ์นี้ได้ดีที่สุดในเมืองไทย
สีเหลืองทองอ่อน ๆ หอมสดชื่นดมครั้งแรกได้กลิ่นดอกไม้กรุ่น ๆ ตามด้วยน้ำผึ้ง ผลไม้ เช่น แอปเปิ้ลเขียว ซีทรัส ผักสด หวานนิด ๆ แต่ไม่มาก เมื่อประกอบกับแอซสิดแล้วทำให้มีความสมดุลกันดีพอสมควร จบปานกลางด้วยผลไม้และน้ำผึ้งกรุ่น ๆ …88/100 คะแนน
เป็นไวน์ที่เหมาะสำหรับดื่มง่าย ๆ สบาย ๆ และดื่มกับอาหารได้หลากหลาย รวมทั้งผู้ที่ต้องการทำความรู้จักกับองุ่น Chenin Blanc ซึ่งได้ฉายาว่า “กิ้งก่า” เพราะสามารถปรับตัวเข้ากับดินฟ้าอากาศของแต่ละพื้นที่ได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ขณะเดียวกันจะสะท้อนแตร์รัวของแต่ละพื้นออกมาด้วย
เพื่อเป็นทางเลือกของผู้ที่ชอบไวน์ดราย (Dry) สมัยก่อนจึงมีการผลิตรุ่น ชาโต เดอ เลย,เชอแนง บลอง,เอ็กตรา ดราย (Chateau de Loei Chenin Blanc Extra Dry) ออกมาด้วย ปัจจุบันไม่รู้ว่ายังทำอยู่หรือไม่ ?
ชาโต เดอ เลย,”จีโอแกรฟฟิเคิล อินดิเคชัน แพลโท เดอ ภูเรือ”,ชิราซ 2014 (Chateau de Loei,Geographical Indication Plateau de Phurua,Shiraz 2014) เป็นไวน์แดงรุ่นธรรมดาของเขา แต่รสชาติไม่ธรรมดา เพราะได้อรรถรสของชิราซและความเป็นไวน์ไทยพอสมควร สีแดงสดใส หอมกลิ่นผลไม้ เช่น แบล็คเบอร์รี เชอร์รี มัลเบอร์รี และพลัม ตามด้วยกาแฟคั่ว ชอกโกแลต มิเนอรัล โอคกรุ่น ๆ สไปซีเฮิร์บแห้ง ๆ แทนนินปานกลางนุ่ม ๆ แอซสิดดีมากสามารถดื่มกับซีฟู้ดบางอย่างได้เลย จบปานกลางด้วยผลไม้และเฮิร์บ……87/100 คะแนน
ชาโต เดอ เลย,”จีโอแกรฟฟิเคิล อินดิเคชัน แพลโท เดอ ภูเรือ”,ชิราซ รีเสิร์ฟ 2014 (Chateau de Loei,Geographical Indication Plateau de Phurua,Shiraz Reserve 2014) อีกหนึ่งไวน์คุณภาพของไทย ทำจากชิราซที่ปลูกในพื้นที่ควบคุม Plateau de Phurua สีแดงเข้มสดใส หอมผลไม้สุกกรุ่น ๆ เช่น แบล็คเบอร์รี พลัม มะเดื่อ และมัลเบอร์รี โอคกรุ่น ๆ กำลังดีไม่จัดจ้านจนเลี่ยน นอกจากนั้นยังมีสนิมเหล็ก กาแฟคั่ว ชอกโกแลต สไปซีเฮิร์บแห้ง ๆ แทนนินนุ่มเนียน จบปานกลางด้วยผลไม้สุก ๆ และเฮิร์บชุ่มคอ เป็นชิราซสไตล์ดื่มง่าย ๆ ดื่มได้ทุกโอกาส และกับอาหารหลากหลาย…..90/100 คะแนน
ท่านที่ไปเที่ยงจังหวัดเลย อย่าพลาดกับการไปเยือนและสนับสนุน “ชาโต เดอ เลย” (Chateau de Loei) ตำนานหน้าหนึ่งไวน์ไทยเพื่อสู้กับไวน์ชาติอื่น ๆ