เบียร์ดำ : จิตวิญญาณแห่งไอริช

Arthur-Guinness-630x300

Black beer

SONY DSC

image

maxresdefault

The Guinness brewery at St James's Gate

540x360

737117212416ed2976684deda8d1d093 ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 30 – 40 ปีที่แล้ว เดินผ่านร้านอาหารจีนจะต้องเห็นขวดเบียร์สีชาเข้ม ๆ ฉลากรูปคอหมา ปากขวดหุ้มฟอยด์สีทอง ตั้งเรียงรายอยู่แทบทุกโต๊ะ โดยเฉพาะคนจีนอายุกลางคนขึ้นไปชอบมาก เพราะนอกจากจะดื่มกับอาหารจีนได้ดีแล้ว ยังมีความเชื่อว่าจะช่วยบำรุงร่างกายและเลือดลม ที่สำคัญบำรุงพลังทางเพศด้วย
นั่นคือ “เบียร์คอหมา” ซึ่งแท้ที่จริงก็คือ “เบียร์ดำ” เบียร์ที่ถือเป็นแก่นแท้ของไอริช เป็นหนึ่งในความคลาสสิคของคนไอริช ซึ่งได้ชื่อว่ามีไอคิวและมันสมองอัจฉริยะระดับต้น ๆ ของโลก
ขณะที่คนอายุเลข 4-5 นำหน้าอาจจะเคยอ่านการ์ตูนเล่มละสิบสลึง ภาพหน้าปกเป็นรูปสาวสวยนั่งบนโต๊ะรูเล็ตต์ แกะกระดุมเสื้อสองเม็ดบน โชว์เนินอกมโหฬาร เด็ก ๆ หรือวัยรุ่นสมัยนั้นเห็นแล้วมือชาเท้าชาหลายนาที ยุคนั้นถือว่าค่อนข้างโป๊ แต่สมัยนี้ขนาดโชว์ทุกรูขุมขนในร่างกาย ยังตะแบงว่าเป็นศิลปะ
หญิงสาวคนดังกล่าวเป็นนางนกต่อเพื่อล่อพระเอกไปติดกับ หลังจากพระเอกโก่งศรยิงนางนกต่อเรียบร้อยแล้ว พระเอกก็ร้องขอดื่ม “เบียร์ดำผสมไข่ไก่” มาดื่ม อิทธิพลการดื่มของพระเอกบนทรวงอกสาวอึ๋ม ทำให้คนในยุคนั้นพากันสั่งเบียร์ดำกับไข่ไก่เป็นแถว
ความขมของเบียร์ดำช่วยดับความคาวได้ ดื่มครั้งแรก ๆ อาจจะพะอืดพะอมบ้าง แต่พอนึกถึงว่าช่วยให้เตะปี๊บดังลั่นทุ่ง ความคาวความขมก็ไม่มีความหมาย เครื่องดื่มเสริมพลังทางเพศนี้มีอยู่หลายสูตร แต่ที่นิยมกันมากถือว่าเป็นสูตรมาตรฐานคือเบียร์ดำ + ไข่ไก่ ต่อมามีการเพิ่มเนยเข้าไปด้ย กลายเป็น เบียร์ดำ + ไข่แดง + เนย คนให้เข้ากันดีแล้วกระดกครั้งเดียวให้หมดแก้ว นอกนั้นก็มี เบียร์ดำ + น้ำผึ้งเดือนห้า + เนย เป็นต้น ใครจะนำไปใช้ก็เชิญไม่สงวนลิขสิทธิ์ ไม่คิดค่า อย.(อาหย่อย)
เบียร์ดำตราคอหมาป่าหายไปจากตลาดเมืองไทยประมาณ 7-8 ปีแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะมีเบียร์สีทองเข้ามาในตลาดมากขึ้น ที่สำคัญเนื่องจากบริษัทมือปืนรับจ้างในเมืองไทยไม่ได้รับการต่อสัญญาให้ผลิต จึงหันมาทำเบียร์ตราเสือของตัวเองออกมา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
เบียร์ดำที่มีขายในเมืองไทยและเป็นยี่ห้อดังไปทั่วโลก และถือเป็น ”ราชาแห่งเบียร์ดำ” ก็คือ “กินเนสส์” (Guinness) ถ้าเป็นแบบเบียร์สดกดจากหัวจ่าย (Tab) ตามผับหรือร้านอาหาร จะสั่งมาจากมาเลเซีย ซึ่งได้รับการจ้างให้ผลิตแทนบริษัทในเมืองไทย แต่ถ้าจะดื่มแบบมาจากแหล่งผลิตจริง ๆ ก็ต้องดื่มแบบกระป๋องทรงสูงสีดำ ความจุ 440 มิลลิลิตร ดีกรี 4.4 %
เบียร์ดำ หรือ สเตาต์ (Stout) ได้ชื่อว่าเป็นเบียร์ประจำชาติของไอร์แลนด์ จริง ๆ แล้วมีหลายยี่ห้อ แต่ที่โด่งดังจนกลายเป็นสัญญลักษณ์ของเบียร์ดำคือ “กินเนสส์” (Guinness) ดังกล่าว พูดถึงเบียร์ดำทุคนจะนึกถึงกินเนสส์ สเตาท์ทันทีบริษัทนี้ยิ่งใหญ่ขายทั้งวิสกี้ สปิริต เบียร์ ไวน์ รวมทั้งมีหุ้นอยู่ในบริษัท โมเอต์ เอต์ ชองดอง (Moet et Chandon) แชมเปญยี่ห้อดังของโลกด้วย
สัญลักษณ์ของกินเนสส์ ถูกนำไปทำเป็นสินค้าและของที่ระลึกต่าง ๆ มากมาย เช่น เสื้อ หมวก กางเกง ถุงเท้า กางเกงใน สติกเกอร์ เครื่องใช้ในครัว เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งต่าง ๆ ที่สำคัญเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ของ “กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด” (Quinness World Records) บันทึกสถิติสิ่งที่เป็น “ที่หนึ่งในโลก”
คนไอริชมีความภูมิใจในแผ่นดิน วีรบุรุษ และภูมิปัญญาของเขา โดยบอกว่าเบียร์ดำเป็นมากกว่าเบียร์ และจะดื่มเบียร์ดำวันละแก้ว เพราะเชื่อว่าจะช่วยในการบำรุงโลหิตและหัวใจ สมัยโบราณนิยมให้คุณแม่ที่คลอดลูกใหม่ ๆ ดื่มเพื่อบำรุงโลหิต เหมือนที่บ้านเราให้ดื่มยาดองเหล้า ผิดกันตรงที่รัฐบาลเราใจไม่กว้าง ภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างเหล้าขาว อุ กระแช่ สาโท ฯลฯ แทนที่จะส่งเสริมเป็นเอกลักษณ์ของชาติ กลับห้ามชาวบ้านทำ
อาร์เธอร์ กินเนสส์ (Arthur Guinness) ผู้ก่อตั้งกินเนสส์ ได้สร้างโรงผลิตเบียร์ในดับลิน (Dublin) ในปี 1759 โดยใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่ค่อนข้างทันสมัย เนื่องจากตอนนั้นอยู่ในช่วงเปิดโลกปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ ๆ โดยมีฮาร์พ (Harp) เครื่องดนตรีไอริชเป็นสัญลักษณ์ ไม่นานเบียร์ดำกินเนสส์ก็กลายเป็นคู่แข่งสำคัญของเอล (Ale) ซึ่งสีค่อนไปทางแดงและรสหวาน ขณะที่เบียร์กินเนสส์นอกจากสีจะดำแล้ว รสชาติยังผสานระหว่างขม มัน และกลิ่นยีสต์ที่แรง ซึ่งคนไอริชบอกว่า “ยิ่งดื่มยิ่งอร่อย ”
เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ยอดคนไอริชอย่าง ยอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ นักคิด นักเขียน ที่บางคนตั้งฉายาเขาว่า “คึกฤทธิ์แห่งไอริช”,ซามูเอล บลัคเกตต์,เจมส์ จอยซ์ และนิก เยตส์ ซึ่งล้วนแต่ได้รับรางวัลโนเบลไพรซ์ รวมทั้ง จอห์น เอฟ เคเนดี้ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีเชื้อไอริช จะโปรดปรานเบียร์ดำมาก
ผู้เขียนเคยไปไอร์แลนด์ และตระเวณไปตามเมืองต่าง ๆ หลายแห่ง โดยเฉพาะเมืองหลวงชื่อดับลิน (Dublin) ที่คนไอริชเรียกว่าดุบลินยังแปลว่า “เมืองน้ำดำ” ในผับต่าง ๆ นอกจากจะตกแต่งด้วยไม้มะฮอกกานี และหินอ่อนแล้ว จะต้องมีถังไม้บรรจุเบียร์ดำหลายยี่ห้อไว้บริการคอเบียร์ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นถังโลหะเป็นส่วนใหญ่
หลังจากนั้นจึงขึ้นไปเบลฟาสต์ เมืองหลวงของไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งสมัยก่อนมีข่าวขบวนการก่อการร้าย วางระเบิดอยู่บ่อย ๆ มีเบียร์ดำของบริษัทกินเนสส์เช่นกัน แต่สีจางกว่าเล็กน้อยออกโทนน้ำตาลเรียกว่าบราวน์เบียร์ชื่อ “คิลเคนนีย์” (Kilkenny)
“คิลเคนนีย์” (Kilkenny) เป็นเบียร์ที่เก่าแก่ที่สุดบนแผ่นดินไอร์แลนด์ (Ireland) เพราะเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 1710 เป็นเบียร์ประเภท Pale Ale และได้รับฉายาว่า “The Irish Cream Ale” ฟองครีมที่นุ่มหนาราวกับปุยเมฆด้านบนนั้นเกิดจากการอัดไนโตรเจน (Nitrogen) ซึ่งแตกต่างจากเบียร์ชาติอื่นที่ส่วนใหญ่จะใช้ CO2 สีอำพันของ Kilkenny เกิดจากการคั่ว Malted Barley ผสมผสานกับ Hops ดื่มแล้วจะได้กลิ่นหอม หวานนิด ๆ ขมเล็กหน่อย ๆ
ไอร์แลนด์มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลาดเนินเขาและภูเขาสูง น้ำฝนที่ตกมาจะชะล้างหน้าดินซึ่งมีแร่ธาตุผสมอยู่ด้วยไหลลงสู่แม่น้ำ โรงเบียร์ต่างสูบน้ำนี้มาใช้ทำเบียร์ เมื่อผสมผสานกับแท็กติกส่วนตัวโดยใช้มอลต์และดอกฮอพเผาคั่วจนเกิดสีดำ พร้อมทั้งกระบวนการบ่มหมักด้วยยีสต์พันธุ์ดี จึงยากที่ชาติใดจะทำเบียร์ดำได้อร่อยเท่าไอร์แลนด์ น้ำเป็นปัจจัยสำคัญของรสชาติเบียร์
ร้านอาหารในไอร์แลนด์ส่วนใหญ่จะมีเมนูแนะนำประจำร้านคือ เบียร์ดำกับหอยนางรมสด โดยเฉพาะที่เมืองกัลเวย์ (Galway) ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของหอยนางรม มีการจัดเทศกาลหอยนางรมประจำปีในเดือนกันยายน อากาศเย็นสบาย จิบเบียร์ดำรสเด็ด เคล้าหอยนางรมตัวขาวอวบอั๋น เวลาดื่มอย่าลืมให้ฟองติดหนวดนิด ๆ ใช้ลิ้นค่อยละเลียดและเร็ม ขอบอกว่าเทวดายังต้องสั่งน้ำแข็งมาโป๊ะตาด้วยความอิจฉา ขณะที่คนอังกฤษใช้เบียร์ดำผสมกับแชมเปญอย่างละครึ่งซดกับหอยนางรมอร่อยไปอีกแบบ แต่จะว่าไปแล้วหอยนางรมของใครก็สู้บ้านเราไม่ได้ หอยนางรมไทยอร่อยที่สุดในโลก กินวิธีไหนก็อร่อย จะเสียอย่างเดียวเราไม่ค่อยช่วยกันรักษาท้องทะเลเท่านั้นเอง
ผู้ผลิตเบียร์ในไอร์แลนด์มักจะมีผับเป็นของตนเอง เพื่อโปรโมทขายเบียร์ อาหาร และสินค้าที่ระลึกต่าง ๆ กินเนสส์เป็นบริษัทเดียวที่ไม่มีผับเป็นของตนเอง แต่ส่งไปขายกว่า 120 ประเทศทั่วโลก กินเนสส์ที่ขายในไอร์แลนด์จะใช้มอลต์หรือบาร์เลย์ที่ปลูกในไอร์แลนด์ทั้งหมด ภายใต้กฎหมายควบคุมอย่างเคร่งครัด ไม่มีการเติมธัญพืชอื่นและน้ำตาล
เบียร์ดำสด (Draught) จะมีบุคคลิกที่ ดรายหรือไม่หวาน ขมนิด ๆ สไปซี่ และช็อกโกแลต รสชาตินุ่มนวล และอร่อยกว่าแบบกระป๋องหรือขวดซึ่งนอกจากค่อนข้างจะขมกว่าแล้วยังอัดก๊าซค่อนข้างเยอะ
วิธีการรินเบียร์ดำจากกระป๋องนั้นเป็นทักษะเฉพาะตัวไม่เหมือนเบียร์อื่น นอกจากจะต้องแช่ให้เย็นเฉียบแล้วใจจะต้องเย็นด้วย เมื่อเปิดกระป๋องซึ่งขนาดสูงกว่า 1 คืบ ต้องทิ้งไว้สักครู่ให้ฟองเบียร์ขึ้นมาถึงปากกระป๋องก่อนจึงค่อยรินใส่แก้ว ซึ่งก็ต้องใช้แก้วของเขาโดยเฉพาะจึงจะได้รสชาติที่แท้จริง นอกจากนั้นในกระป๋องยังใส่ก้อนพลาสสิกแข็งเอาไว้ด้วย เพื่อเวลาเขย่าจะได้เกิดครีมฟอง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเบียร์ชนิดนี้
นอกจากดับลินแล้วเมืองคอร์ก(Cork) ซึ่งอยู่ใต้สุดของไอร์แลนด์ ก็เป็นอีกเมืองที่มีโรงผลิตเบียร์ดำหลายแห่งระดับแนวหน้า เช่นเมอร์ฟี (Murphy) ผู้เขียนเคยไปดูและกินอาหารในโรงเบียร์ของเขาด้วย เบียร์รสนุ่มและขมน้อยกว่ากินเนสส์ บริษัทนี้เบียร์ไฮเนเก้นมีหุ้นอยู่ด้วย ขณะที่ยี่ห้อบีมิช (Beamish) รสชาตินุ่มนวลกว่ากินเนสส์ กลิ่นช็อกโกแลต มอลต์และฮอพค่อนข้างชัดเจน เป็นต้น
สเตาท์ไม่ใช่มีเฉพาะแบบขม แต่ยังมีอีกหลายประเภท เช่น Sweet Stout,Oatmeal Stout และ Milk Stout ที่คนอังกฤษชอบกันมาก ยี่ห้อดัง ๆ อย่าง Simonds,Mackeson Guernsey ใครสามารถฝ่าด่านค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงไปอังกฤษได้ขอแนะนำให้ลิ้มลอง
ในเมืองไทยท่านที่อยากลองของจริงทั้งบรรยากาศ การตกแต่ง อาหารไอริช เบียร์สดกินเนสส์ สเตาท์ และคิลเคนนีย์สด ๆ ต้องไปตามไอริชผับ เช่น เดลานีย์ในซอยคอนแวนต์ สีลม เป็นไอริชผับแห่งแรกของเมืองไทย ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อและเจ้าของไปแล้ว เดลานีย์นั้นมีสาขาอยู่ทั่วโลก นอกจากนั้นก็มีโอไรเลย์ (O’Reilley) อยู่ปากทางเข้าธนิยะ ปัจจุบันก็เปลี่ยนชื่อไปแล้ว,ดับลินเนอร์ (Dubliner) ถนนสุขุมวิท ตรงกันข้ามซอยสุขุมวิท 31 (เลิกไปแล้ว) และเดอะ โรบินฮู้ด (The Robin Hood) ถนนสุขุมวิท ตรงข้ามเอ็มโพเรียม เป็นต้น หรือตามผับอังกฤษมักจะมีขาย เช่น ฮันส์แมน ผับ (Huntsman Pub) โรงแรมแลนด์มาร์ค เป็นต้น
เสน่ห์ของการดื่มเบียร์ไม่ใช่อยู่ที่การดื่มเบียร์ถูก เบียร์แพง เบียร์ในประเทศ เบียร์อิมพอร์ต หรือเบียร์ดีกรีแรง แต่อยู่ที่ท่าน “รู้จักเลือกเบียร์” หรือไม่.

Thawatchai Tappitak

ธวัชชัย เทพพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมทั้งด้านอาหาร เคยเดินทางไปทำไวน์ในยุโรป 5 ปีครึ่ง จึงนำประสบการณ์ด้านดังกล่าวมาถ่ายทอดสู่แวดวงที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 20 ปี เป็นกรรมการตัดสินไวน์ บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร เช่น Thailand Restaurant News,GQ,Gastrogsm ฯลฯ นอกจากนั้นยังสอนไวน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ------------- ข้อมูลบทความ/ภาพ/วิดีโอ ในเว็บไซต์ ThatwatchaiGURU.com เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน การนำไปเผยแพร่ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ (นอกจากการแชร์) ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ----------- ติดต่อ: ThawatchaiGURU@at-Bangkok.com

You may also like...